วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ข้อมูลอย่างละเอียด เชฟโรเลต คอร์เวทท์ 2014 C7 ที่่พร้อมให้คุณร่วมขับขี่ย้อนตำนาน “สตริงเรย์” อีกครั้ง


ดีทรอยท์ – เชฟโรเลต เปิดตัวคอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมกำหนดนิยามใหม่ให้รถสปอร์ตสมรรถนะสูง ตอกย้ำชื่อในตำนานอย่างสติงเรย์ ที่จะต้องผสมผสานเทคโนโลยี การออกแบบและสมรรถนะได้อย่างสมบูรณ์แบบ


คอร์เวทท์ สติงเรย์ 2014 ไม่เพียงเป็นรถรุ่นสแตนดาร์ดที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ด้วยพละกำลังระดับ 450 แรงม้า แรงบิด 610 นิวตันเมตร คอร์เวทท์ รุ่นใหม่ยังมีอัตราเร่งเร็วที่สุดด้วย สามารถออกตัวจาก 0-96 กม./ชม.ในเวลาต่ำกว่า 4 วินาที มีประสิทธิภาพเกาะถนนอย่างเหนียวแน่นขณะเข้าโค้งโดยสามารถสร้างแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางได้สูงถึง 1จี ไม่เพียงเท่านั้น คอร์เวทท์รุ่ นล่าสุดนี้ยังมีอัตราบริโภคน้ำมันเหนือกว่ารุ่นปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 11 กม./ลิตร ประเมินโดยหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ
“คอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่ถ่ายทอดแนวคิดมาจากสติงเรย์ รุ่นแรกเมื่อปี 1963 เพียบพร้อมด้วยสมรรถนะระดับผู้นำ อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย การออกแบบที่ดึงดูดทุกสายตาและมอบประสบการณ์ขับขี่อันตื่นตาตื่นใจ” มาร์ก รีอัส ประธานกรรมการจีเอ็ม อเมริกาเหนือ กล่าว “คอร์เวทท์ รุ่นใหม่ล่าสุดได้ก้าวล้ำหน้าเกินกว่าที่เคยเป็นมา ด้วยการผสมผสานการออกแบบ เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน”
คอร์เวทท์ สติงเรย์ เจนเนอเรชั่นใหม่ใช้ชิ้นส่วนร่วมกับรุ่นก่อนหน้าเพียงสองชิ้นเท่านั้น มาพร้อมกับโครงสร้าง แชสซีส์ เครื่องยนต์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ล่าสุด รวมถึงการออกแบบใหม่หมดทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและห้องโดยสารภายใน โดยมีความโดดเด่น ดังนี้
• ห้องโดยสารที่ใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ อลูมิเนียมและหนังเกรดพิเศษผลิตด้วยมือ มีเบาะที่นั่งให้เลือกสองแบบ ซึ่งล้วนใช้โครงสร้างแม็กนีเซียมน้ำหนักเบาและรองรับสรีระของผู้ขับขี่และผู้โดยสารอย่างเต็มที่ พร้อมกับติดตั้งหน้าจออินโฟเทนเมนท์และแสดงผลการขับขี่ขนาด 8 นิ้วสองตัว
• เทคโนโลยีสนับสนุนผู้ขับขี่อันล้ำสมัย โดยเฉพาะการเลือกโหมดการขับขี่ได้ห้าโหมด (Drive Mode Selector) ที่สามารถปรับได้ถึง 12 รูปแบบรองรับทุกสภาวะการขับขี่ ขณะที่ระบบเกียร์ธรรมดา 7 สปีดรุ่นใหม่มาพร้อมระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matching ซึ่งประเมินการเปลี่ยนเกียร์และควบคุมรอบเครื่องยนต์ให้เหมาะสมเพื่อความสมบูรณ์แบบทุกครั้งที่เปลี่ยนเกียร์
• ขุมพลังขับเคลื่อนบล็อก V8 รหัส LT1 ความจุ 6.2 ลิตร รุ่นใหม่ล่าสุด ผสมผสานเทคโนโลยีอันก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม ระบบการจัดการเชื้อเพลิง Active Fuel Management ระบบวาล์วแปรผันต่อเนื่องและระบบเผาไหม้ที่ทันสมัย มอบพละกำลังที่เหนือกว่าโดยใช้เชื้อเพลิงน้อยลง
• ใช้วัสดุน้ำหนักเบา ทั้งฝากระโปรงและแผงหลังคาทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ใช้วัสดุผสมคาร์บอนบริเวณซุ้มล้อ ประตูและบริเวณด้านท้ายรถ ขณะที่พื้นใต้ท้องรถทำจากคาร์บอน-นาโน รวมถึงการพัฒนาเฟรมอลูมิเนียมเพื่อถ่ายเทน้ำหนักมาด้านหลัง เพิ่มรักษาสมดุลของน้ำหนักตัวรถหน้า/หลังให้อยู่ที่ 50/50 เสริมอัตราส่วนน้ำหนักต่อแรงม้าที่อยู่แถวหน้าในระดับโลก
• รูปลักษณ์ภายนอกโดดเด่นด้วยกรอบไฟเอชไอดีและแอลอีดี พร้อมกับรูปทรงลู่ลมตามหลัก
แอโรไดนามิกที่ถ่ายทอดจากสนามแข่ง มีแรงเสียดทานอากาศต่ำ เพิ่มศักยภาพการควบคุมและประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง
• แพ็คเกจสมรรถนะสูง Z51 Performance Package รองรับการขับขี่ในสนามแข่ง ไม่ว่าจะเป็นเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิก ระบบหล่อลื่นแบบอ่างแห้ง ระบบเบรกประสิทธิภาพสูง ระบบหล่อเย็นเกียร์และเฟืองท้าย รวมถึงชุดแต่งแอโรพาร์ทรอบคันเพื่อเพิ่มเสถียรภาพการขับขี่ในย่านความเร็วสูง
“สติงเรย์ เป็นหนึ่งในยนตรกรรมที่ได้รับยกย่องมากที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมยานยนต์” เอ็ด เวลเบิร์น รองประธานฝ่ายออกแบบจีเอ็ม โกลเบิล กล่าว “เราตระหนักดีว่า เราไม่สามารถใช้ชื่อสติงเรย์ได้ หากรถรุ่นใหม่นี้ไม่สามารถเทียบได้กับความยิ่งใหญ่ในอดีต คอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่ได้ฉีกกรอบดั้งเดิมพร้อมกับยังคงเอกลักษณ์ในแบบของคอร์เวทท์ ที่คนทั้งโลกรู้จัก”
คอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่จะขึ้นสายการผลิตที่ศูนย์การผลิตจีเอ็ม โบว์ลิ่ง กรีน รัฐเคนตักกี้ ซึ่งได้รับการยกระดับด้วยเงินลงทุนกว่า 3,900 ล้านบาท (131 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รวมถึงเม็ดเงินอีกราว 1,500 ล้านบาท (52 ล้านเหรียญฯ) สำหรับการสร้างโรงงานขึ้นรูปตัวถังแห่งใหม่ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีเอ็ม ดำเนินการผลิตโครงสร้างอลูมิเนียมภายในศูนย์การผลิตรถยนต์ของบริษัทฯ
“เราเชื่อมั่นว่าคอร์เวทท์ จะสะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของรถสมรรถนะสูงสมัยใหม่ เพียบพร้อมด้วยพละกำลังที่เหนือกว่า ความตื่นเต้นในการขับขี่ที่มากกว่าและอัตราประหยัดน้ำมันที่ดีกว่า” แทดจ์ เจคเตอร์ หัวหน้าทีมวิศวกรของคอร์เวทท์ กล่าว “ผลลัทธ์ที่ได้คือสมรรถนะการขับขี่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิมในทุกมิติ คอร์เวทท์ รุ่นปี 2014 มอบอัตราเร่งที่เร็วที่สุด การยึดเกาะถนนที่เหนียวแน่นที่สุด รองรับการขับขี่ในสนามแข่งอย่างดีเยี่ยมที่สุด มีระบบเบรกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดและเราคาดว่าจะเป็นรถคอร์เวทท์ รุ่นสแตนดาร์ดที่มีความประหยัดน้ำมันดีที่สุดด้วย”
คอร์เวทท์ สติงเรย์ 2014 เวอร์ชั่นคูเป้จะออกจำหน่ายในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้
ห้องโดยสารผลิตด้วยมือสุดประณีต พร้อมเทคโนโลยีขั้นสูง
• วัสดุคุณภาพชั้นเลิศ ตกแต่งด้วยอลูมิเนียมและคาร์บอนไฟเบอร์
• ให้ประสบการณ์ขับขี่ที่ใกล้ชิดกับตัวรถมากยิ่งขึ้น ด้วยพวงมาลัยขนาดเล็กลงกว่าเดิมและมีเบาะที่นั่งสองรูปแบบให้เลือกใช้
• เทคโนโลยีอันล้ำสมัย ทั้งหน้าจอแสดงข้อมูลตัวรถความละเอียดสูงสองตัวและการแสดงข้อมูลบนกระจกหน้า
เฮเลน เอมสลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบภายใน เผยว่า ห้องโดยสารของคอร์เวทท์ สติงเรย์ สร้างความกลมกลืนระหว่างวัสดุชั้นดี ความประณีตในการผลิตและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ช่วยเชื่อมโยงผู้ขับขี่และตัวรถให้เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
“ทุกรายละเอียดและชิ้นส่วนในห้องโดยสารได้รับการออกแบบให้ผู้ขับขี่เกิดความเชื่อมโยงกับคอร์เวทท์ มากขึ้น” เอมสลีย์ กล่าว “เริ่มจากการออกแบบค็อกพิทที่โอบล้อมตัวผู้ขับเหมือนกับเครื่องบินรบ ต่อเนื่องไปถึงการดีไซน์พวงมาลัยที่มีขนาดเล็กลง เบาะที่นั่งที่กระชับลำตัว หน้าจอความละเอียดสูงบ่งบอกข้อมูลการทำงานของรถ ตลอดจนการใช้วัสดุตกแต่งอย่างดีเยี่ยม”
พวงมาลัยขนาด 14.1 นิ้ว (360 มม.) ซึ่งเล็กลงนั้นช่วยเสริมความเฉียบคมและตอบสนองได้อย่างรวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น เชฟโรเลต ใส่ใจในรายละเอียดที่เล็กที่สุดอย่างการตัดเย็บอันพิถีพิถันที่พวงมาลัยช่วยเพิ่มความกระชับและนุ่มนวลฝ่ามือทุกการขับขี่
ไม่เพียงพวงมาลัยเท่านั้น เบาะทุกที่นั่งยังได้รับการตัดเย็บอย่างประณีตบรรจง โดยมีให้เลือกสองแบบคือเบาะแบบ GT ที่ให้ความสะดวกสบายเหมาะสำหรับการใช้งานทุกรูปแบบและเบาะแบบ Competition Sport สำหรับคนรักความเร็ว ให้ความรู้สึกโอบกระชับยิ่งกว่า เหมาะกับการขับขี่แบบดุดันในสนามแข่ง
โครงสร้างของเบาะทั้งสองรูปแบบนั้นผลิตจากแม็กนีเซียมเพื่อความแข็งแกร่งและมีน้ำหนักเบากว่าโครงสร้างเหล็กแบบทั่วไป อีกทั้งยังให้ความเหนียวแน่นและยืดหยุ่นไปพร้อมกันเพื่อเพิ่มความรู้สึกโอบกระชับได้ดีขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง
การออกแบบรายละเอียดต่างๆในห้องโดยสารเกิดขึ้นหลังจากทีมดีไซเนอร์ได้มีโอกาสเดินทางไปทดสอบลองขับในสนามทดสอบของจีเอ็มในเมืองมิลฟอร์ด รัฐมิชิแกน โดยประสบการณ์ที่ได้จากการขับขี่รถสมรรถนะสูงเป็นที่มาของหลากหลายชิ้นส่วนที่ถูกพัฒนาไว้ในห้องโดยสาร อย่างโครงเหล็กสำหรับให้ผู้โดยสารยึดจับบริเวณคอนโซลกลางและวัสดุที่มีผิวสัมผัสนุ่มนวลที่มุมคอนโซลซึ่งช่วยลดแรงกระแทกของตัวผู้ขับขี่ขณะเข้าโค้งอย่างหนักหน่วง
การขับขี่รถสมรรถนะสูงยังสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาหน้าจอแสดงผลการทำงานของตัวรถและการแสดงผลการขับขี่บนกระจกหน้า ซึ่งแตกต่างไปตามโหมดการขับขี่ที่เลือกไว้ รวมถึงโหมด Track ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจากรุ่น C6.R
การออกแบบห้องโดยสารที่รองรับสมรรถนะอันโดดเด่นของคอร์เวทท์ สติงเรย์ เกิดขึ้นจากการใส่ใจทุกรายละเอียดและคุณภาพการผลิตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เกิดเป็นดีไซน์ค็อกพิทที่มีความโค้งมนและไหลลื่นต่อเนื่องจากแผงคอนโซลไปถึงแผงประตูอย่างสวยงามลงตัว
คอร์เวทท์ ทุกรุ่นย่อยมาพร้อมกับวัสดุหนังชั้นดี ให้ผิวสัมผัสนุ่มมือในแบบยนตรกรรมหรูหรา พร้อมกับมีวัสดุอื่นๆ ให้เลือกใช้ ทั้งหนังประเภท Napa อลูมิเนียม คาร์บอนไฟเบอร์และหนังกลับ
โดยสารมีคุณภาพดีที่สุด ทุกชิ้นส่วนได้รับการตกแต่งอย่างดีเยี่ยม อาทิแผงควบคุมบริเวณคอนโซลที่ใช้เครื่องจักรตัดเย็บเพื่อความเที่ยงตรงสมบูรณ์สลับด้วยงานแบบหัตถกรรมเพื่อเพิ่มรายละเอียด
บริเวณใต้ช่องปรับอากาศของผู้โดยสารยังมีหน้าจอแอลซีดีขนาดเล็กสำหรับควบคุมระบบปรับอากาศ ซึ่งถูกติดตั้งให้ห่างจากแผงควบคุมหลักแสดงให้เห็นถึงการใส่ใจในทุกรายละเอียด
“เพื่อให้ห้องโดยสารมีคุณภาพสูงสุด เราได้ทุ่มเทเวลาทำงานในสายการผลิตคอร์เวทท์ร่วมกับทีมพนักงานที่ทำงานอยู่ในศูนย์การผลิตโบว์ลิง กรีน” ไรอัน วอห์น ผู้จัดการฝ่ายออกแบบภายใน กล่าว “ด้วยความร่วมมือระหว่างพนักงานฝ่ายออกแบบ ฝ่ายวิศวกรรมและฝ่ายการผลิต เราจึงสามารถรักษาความสมบูรณ์แบบของงานดีไซน์ไว้ได้ พร้อมกับช่วยยกระดับกระบวนการผลิตและสามารถสร้างห้องโดยสารที่เราเชื่อมั่นว่ามีคุณภาพระดับโลก”
เทคโนโลยีสุดล้ำตอบสนองทุกการขับขี่
• โหมดการขับขี่ Driver Mode Selector ปรับการทำงานตัวรถได้ถึง 12 รูปแบบ
• สามารถปรับเปลี่ยนหน้าจอแสดงผลการขับขี่และการแสดงผลบนกระจกหน้าได้ตามต้องการ
• จอระบบสัมผัสลางคอนโซลมาพร้อมเทคโนโลยีตรวจจับภาษากาย
แก่นแท้แห่งเทคโนโลยีในห้องโดยสารของคอร์เวทท์ สติงเรย์ คือการเลือกโหมดการขับขี่ Driver Mode Selector ซึ่งเอื้อให้ผู้ขับสามารถปรับการทำงานของตัวรถให้เข้ากับสภาวะการขับขี่และสภาพถนนได้ โดยมีทั้งหมดห้าโหมดคือ Weather, Eco, Tour, Sport และ Track
“คอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่เหมือนมีรถสามรูปแบบในคันเดียว มีทั้งความสะดวกสบายและการใช้งานในแบบรถจีที การเชื่อมต่อผ่านระบบอินโฟเทนเมนท์เหมือนรถที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน รวมถึงอัตราเร่ง การเกาะถนนและการเบรกในสไตล์รถแข่ง” ฮาร์แลน ชาร์ลส์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ กล่าว
“เราต้องการให้ผู้ขับสามารถเลือกโหมดขับขี่ผ่านระบบ Driver Mode Selector ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานตัวรถทุกด้านให้สอดคล้องกับสภาวะการขับขี่ได้อย่างง่ายดาย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นเมื่อนั่งอยู่หลังพวงมาลัย ไม่ว่าคุณจะขับฝ่าสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาอย่างหนักหรือผ่านเส้นทางคดเคี้ยวอย่างในสนามแข่ง Laguna Seca”
การเลือกโหมดขับขี่ทำได้อย่างสะดวกง่ายดายเพียงปรับหมุนสวิทช์ที่อยู่ใกล้กับคันเกียร์ เริ่มจากโหมด Tour ถูกเซ็ทสำหรับการขับขี่ในชีวิตประจำวัน โหมด Weather ออกแบบมาสำหรับการเพิ่มความเชื่อมั่นขณะขับกลางสายฝนหรือหิมะ โหมด Eco เน้นความประหยัดเชื้อเพลิง โหมด Sport สำหรับการขับอย่างเร้าใจ และโหมด Track ดีไซน์มาเพื่อการขับอย่างดุดันในสนามแข่งโดยเฉพาะ
“นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพัฒนา เราใช้เวลาทดสอบขับคอร์เวทท์ อย่างหนักในสนามแข่ง ประสบการณ์ที่ได้รับทำให้เกิดเป็นหลายชิ้นส่วนในห้องโดยสาร อย่างการแสดงผลในโหมด Track” วอห์น กล่าว “ที่ความเร็ว 193 กม./ชม. สายตาของคุณจะพบกับภาพที่เหมือนอยู่ในอุโมงค์ ซึ่งคุณต้องมีสมาธิในการเข้าโค้งที่อยู่เบื้องหน้า ดังนั้นคุณก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้ว่าเพลงต่อไปที่กำลังจะเล่นนั้นคือเพลงอะไร”
การแสดงผลการขับขี่มีทั้งหมด 12 รูปแบบตามการใช้งานในแต่ละโหมดการขับขี่ ดังนี้
• การปรับเปลี่ยนมาตรวัด: โหมด Tour, Eco และ Weather จะแสดงข้อมูลการเดินทาง ระบบเครื่องเสียงและระบบนำทาง ขณะที่โหมด Sport โชว์ข้อมูลแบบดั้งเดิมเน้นให้อ่านง่าย ส่วนโหมด Track จะแสดงผลแบบรถแข่งคอร์เวทท์ เรซซี่ง C6.R พร้อมกับการจับเวลาต่อรอบในสนามแข่งด้วย
• ระบบควบคุมคันเร่งอิเลกทรอนิก ETC (Electronic Throttle Control): ปรับเปลี่ยนลิ้นคันเร่งตามโหมดการขับขี่ที่เลือกไว้เพื่อยกระดับการตอบสนองให้รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น
• แป้นเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติ: เพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเปลี่ยนเกียร์
• ระบบการจัดการเชื้อเพลิง Active Fuel Management: ในโหมดขับขี่ปกติ เครื่องยนต์ LT1 จะใช้งานบล็อก V8 เต็มรูปแบบและจะสลับไปใช้งานแบบ V4 หรือเพียงสี่ลูกสูบเมื่อขับขี่รอบเดินเบา ขณะที่โหมด Eco เครื่องยนต์จะทำงานเพียงสี่สูบตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความประหยัดเชื้อเพลิงจนกว่าผู้ขับขี่จะกดคันเร่งเมื่อต้องการพละกำลังเพิ่มเติม
• ท่อไอเสีย (ระบบระบายไอเสียแบบแอคทีฟ): ระบบนี้ช่วยปรับหน่วงเวลาควบคุมวาล์วไอเสียด้วยระบบอิเลกทรอนิกเพื่อเพิ่มสุ้มเสียงคำรามของเครื่องยนต์ V8 โดยขึ้นอยู่กับโหมดการขับขี่
• เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิก (รุ่น Z51): ปรับเปลี่ยนการทำงานของเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป รักษาสมดุลระหว่างการบังคับเลี้ยวและเสถียรภาพการทรงตัวในสภาวะการขับขี่ที่แตกต่างกัน โดยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในโหมด Sport และ Track
• พวงมาลัย: ปรับเปลี่ยนระบบบังคับเลี้ยวตามโหมดการขับขี่เพื่อให้ผู้ขับสามารถควบคุมพวงมาลัยอย่างแม่นยำตามต้องการ
• ระบบกันสะเทือนแม่เหล็ก Magnetic Ride Control: ปรับเปลี่ยนความหนืดช็อกอัพตามสภาพถนน ทั้งการเน้นความสะดวกสบายหรือการรองรับสมรรถนะขั้นสูงสุด
• ระบบช่วยออกตัว Launch control: มีทั้งในโหมด Sport และ Track ทั้งระบบเกียร์ธรรมดาและอัตโนมัติ ช่วยให้การออกตัวเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด
• ระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัว StabiliTrak: ผู้ขับสามารถเลือกโหมด Sport และ Track เพื่อปรับตั้งการทำงานของระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัวสำหรับการทำความเร็วในสนามแข่ง ขณะเดียวกัน ยังสามารถปลดการทำงานได้อย่างสิ้นเชิงเพื่อควบคุมตัวรถได้อย่างเต็มที่
• ระบบป้องกันการลื่นไถล: ในโหมด Weather ระบบป้องกันการลื่นไถลจะควบคุมแรงบิดเครื่องยนต์สำหรับการขับขี่ในสภาพอากาศเลวร้าย
• ระบบการจัดการสมรรถนะการขับขี่ Performance Traction Management: มีในโหมด
Sport และ Track โดยสามารถปรับแรงบิดและการทำงานของเบรกได้ห้าระดับสำหรับการขับในสนามแข่ง
หน้าจอดิสเพลย์แสดงผลการทำงานของตัวรถมีทั้งหมดสามตัว ประกอบด้วยหน้าจอขนาดแปดนิ้วสองตัวและแสดงผลแบบสีขึ้นบนกระจกหน้าอีกหนึ่งตัว มอบข้อมูลการทำงานตามที่ผู้ขับขี่ต้องการและสามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลให้แตกต่างไปตามแต่ละโหมดการขับขี่ได้
หน้าจอแปดนิ้วทั้งสองตัวมอบทัศนวิสัยอันยอดเยี่ยมแม้ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงสว่างจ้า ด้วยความสว่างระดับ 650 แคนเดลาต่อตารางเมตรของหน้าจอที่อยู่บริเวณมาตรวัดและ 1,000 แคนเดลาต่อตารางเมตรสำหรับหน้าจอที่ติดตั้งบริเวณคอนโซลหน้า ถือว่ามีความสว่างมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์เวลานี้ หน้าจอบนคอนโซลยังรองรับการสั่งงานแบบสัมผัสพร้อมระบบตรวจจับภาษากาย อีกทั้งสามารถปรับตำแหน่งให้ต่ำลงได้เพื่อเปิดใช้ช่องเก็บของและช่องยูเอสบีสำหรับการชาร์จอุปกรณ์ต่างๆหรืออัพโหลดข้อมูล
คอร์เวทท์ สติงเรย์ ยังมาพร้อมระบบอินโฟเทนเมนท์อันทันสมัย รองรับเชฟโรเลต มายลิงค์ (Chevrolet MyLink) และวิทยุแบบไฮเดฟ รวมถึงระบบเชื่อมต่อผ่านดาวเทียมออนสตาร์ (OnStar) พร้อมแผนที่แบบสามมิติ นอกจากนี้ยังมีระบบเชื่อมต่อยูเอสบีบนคอนโซลกลาง ช่องแจ็คเชื่อมต่อเครื่องเสียงและช่องเอสดีการ์ดเพื่อการเชื่อมต่ออย่างไร้ที่ติ
ระบบเครื่องเสียงระดับพรีเมียมมาพร้อมลำโพง 10 ตัว รวมถึงตู้เพาเวอร์แอมป์ซับเบสบ็อกซ์และซับวูฟเฟอร์สองตัว ทั้งนี้ ลำโพงแต่ละตัวนั้นมาพร้อมแม่เหล็กแรร์เอิร์ธที่ช่วยยกระดับคุณภาพเสียง ลดน้ำหนักตัวรถและมีขนาดเล็กลง
ทุกเส้นสายภายนอกของคอร์เวทท์ สติงเรย์ เน้นความสง่างามและสมรรถนะ
• การออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ผนวกพันธุกรรมของคอร์เวทท์จากสนามแข่ง
• โดดเด่นด้วยแผงไฟเดย์ไลท์แอลอีดีสีขาว ดวงไฟหน้าแบบเอชไอดีและกรอบไฟท้ายแบบแอลอีดี
• ฝากระโปรงหน้าและแผงหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์แบบถอดเลื่อนได้ ช่วยรักษาน้ำหนักหน้า/หลังอย่างสมดุล
เคน พาร์คินสัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายออกแบบจีเอ็ม โกลเบิล เปิดเผยว่า รูปลักษณ์ภายนอกอันดุดันและท้าทายของคอร์เวทท์ สติงเรย์ มาพร้อมความสง่างามและรองรับทุกการใช้งาน
“การพัฒนาคอร์เวทท์ รุ่นใหม่ด้วยความฝันของดีไซเนอร์ทุกคนนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายดาย” พาร์คินสัน กล่าว “เป้าหมายของเราคือการสร้างดีไซน์อันโดดเด่นที่รวบรวมเทคโนโลยีอันก้าวล้ำหน้าเข้าไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันยังต้องยกระดับสมรรถนะในทุกสภาวะตั้งแต่การทดสอบในอุโมงค์ลมไปถึงในสนามแข่ง ผลลัพธ์ที่ได้คือคอร์เวทท์ สติงเรย์ ยนตรกรรมพิเศษสุดที่กำหนดนิยามใหม่พร้อมกับรักษาหลักการพื้นฐานที่ทำให้คอร์เวทท์เป็นคอร์เวทท์ในทุกวันนี้”
คอร์เวทท์ สติงเรย์ รุ่นใหม่ซึ่งไม่มีการถ่ายทอดดีไซน์จากรุ่นก่อนหน้าแม้แต่ชิ้นเดียว มาพร้อมความโดดเด่นด้วยสัดส่วนฝากระโปรงหน้าที่ค่อนข้างยาว การออกแบบเสาหลังคาในห้องโดยสารชวนให้คิดถึงค็อกพิทของเครื่องบินรบ ขณะที่กรอบไฟท้ายเป็นแบบดวงคู่ นักออกแบบได้สร้างสรรค์คอร์เวทท์ สติงเรย์ด้วยการผสมผสานสองคำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ “อวกาศ” และ “ธรรมชาติ”
“หากเราต้องการใช้คำว่าสติงเรย์ สำหรับรถคอร์เวทท์ รุ่นใหม่ เราต้องแน่ใจว่ารถรุ่นนี้จะต้องมีรูปลักษณ์ภายนอกอันน่าเหลือเชื่ออย่างแท้จริง เหมือนกับที่สติงเรย์ รุ่นแรกเคยสร้างความตื่นตะลึงมาแล้วเมื่อปี 1963” ทอม ปีเตอร์ส ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบภายนอก กล่าว “รูปลักษณ์ดังกล่าวถ่ายทอดมาจากเครื่องบินรบและตัวปลากระเบน (Stingray) ซึ่งความงามภายนอกมาพร้อมประสิทธิภาพ สามารถแหวกอากาศหรือน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คอร์เวทท์ สติงเรย์ ก็เหมือนกับอากาศยานและสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความงามและการใช้งาน”
ระบบการส่องสว่างเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของการดีไซน์คอร์เวทท์ สติงเรย์ ตอกย้ำให้เห็นถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ด้านหน้าตัวรถโดดเด่นด้วยแผงไฟเดย์ไลท์แอลอีดี ฝังอยู่ในกรอบไฟหน้าโครเมียมดำที่บรรจุดวงไฟโปรเจคเตอร์เอชไอดี ขณะที่ไฟเลี้ยวอยู่ที่มุมรถเป็นแบบแอลอีดีเช่นกัน
ไฟท้ายแบบดวงคู่สะท้อนถึงการแหวกกรอบดั้งเดิมอย่างแท้จริงและถือเป็นหนึ่งในความโดดเด่นที่สุดของคอร์เวทท์ สติงเรย์ กรอบเลนส์แบบสามมิติฝังดวงไฟแอลอีดีให้แสงแบบทางอ้อมซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ซึ่งจะใช้หลอดแอลอีดีส่องจากด้านล่างขึ้นบนเพื่อสะท้อนกับตัวรีเฟลกเตอร์ทำให้เกิดแสงสว่างกว้างไกล ขณะที่ไฟถอยหลังเป็นแอลอีดีสีขาว ดีไซน์ของไฟท้ายถ่ายทอดสไตล์จากอากาศยานที่มีช่องดักลมระบายความร้อนแก่เฟืองท้ายและระบบส่งกำลัง
“ตั้งแต่ด้านหน้าจรดท้ายรถ ระบบส่องสว่างอันมีเอกลักษณ์ช่วยสร้างให้คอร์เวทท์ใหม่ ทรงพลังขึ้นมาได้” ปีเตอร์ส กล่าว “เปี่ยมด้วยความสวยงามและดุดัน แฝงด้วยความน่าเกรงขาม คอร์เวทท์จะมีความแตกต่างจากรถทุกรุ่นบนท้องถนนยามค่ำคืน”
สำหรับเรื่องอากาศพลศาสตร์ สติงเรย์ รุ่นใหม่ถูกออกแบบให้เหนือชั้นอย่างที่ไม่มีรถรุ่นใดเทียบเท่า มีการใช้คอมพิวเตอร์ที่ล้ำสมัยในการคำนวณการไหลของอากาศทั้งด้านบนและด้านล่างตัวรถ ทีมวิศวกรและนักออกแบบยังใช้ข้อมูลจากโครงการพัฒนารถแข่งคอร์เวทท์ เรซซิ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการแข่งขันอเมริกัน เลอมังส์ ซีรีส์และ 2012 จีที คลาส แชมเปี้ยน นำมาช่วยรักษาเสถียรภาพการเกาะถนนของล้อคู่หน้าและคู่หลังขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง
หลังจากพัฒนาพื้นผิวตัวถังด้วยมือเพื่อสุนทรีภาพและสมรรถนะอันเหนือชั้นแล้ว คอร์เวทท์ใหม่ถูกทดสอบในอุโมงค์ลมหลายชั่วโมงเพื่อความโดดเด่นของรูปลักษณ์ที่รองรับการใช้งานได้อย่างเต็มที่:
• คอร์เวทท์ ทุกรุ่นย่อยติดตั้งกระจังหน้าและหม้อน้ำใหม่ สอดคล้องกับช่องดักลมและแผงรีดอากาศบนฝากระโปรงหน้าซึ่งช่วยสร้างแรงกดด้านหน้าตัวรถ เพิ่มประสิทธิภาพระบบบังคับเลี้ยวในย่านความเร็วสูง
• ส่วนเว้าด้านข้างของซุ้มล้อหน้าทำหน้าที่รีดอากาศใต้ฝากระโปรงช่วยลดแรงเสียดทานอากาศ
• คอร์เวทท์ รุ่นเกียร์อัตโนมัติหรือรุ่นที่เสริมแพ็คเกจ Z51 Performance Package มีช่องดักอากาศด้านผู้ขับขี่เพื่อรับอากาศเข้าสู่ระบบระบายความร้อนเกียร์ เช่นเดียวกับด้านผู้โดยสารที่มีช่องดักลมเข้าระบายความร้อนเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิก
• อากาศจากเฟืองท้ายและระบบเกียร์จะไหลเวียนออกทางช่องรีดอากาศด้านล่างกันชนและช่องรีดอากาศบริเวณกรอบไฟท้ายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอากาศยาน
• Z51 Performance Package มาพร้อมระบบทำความเย็นเบรก สปอยเลอร์หลังสไตล์สปอร์ตและแผงรีดอากาศช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการเกาะถนน
“ทุกตารางนิ้วบนตัวถังภายนอกของคอร์เวทท์ รุ่นปี 2014 ได้รับการอออกแบบมาเพื่อยกระดับสมรรถนะการขับขี่” เคิร์ก เบนเนียน ผู้จัดการฝ่ายออกแบบภายนอก กล่าว “ทีมนักออกแบบมอบสมดุลที่ดีเยี่ยมระหว่างแรงเสียดทานอากาศที่ต่ำและสมรรถนะการขับขี่ เพิ่มเสถียรภาพและประสิทธิภาพการเกาะถนน ทุกสิ่งทุกอย่างถูกขมวดรวมอยู่ในการออกแบบที่สร้างความตื่นตาตื่นใจในสไตล์ของคอร์เวทท์ มาตลอดหกศตวรรษ”
พัฒนาเพื่อการแข่งขัน ผลิตเพื่อการใช้งานบนถนนจริง
• ใช้โครงสร้างอลูมิเนียมที่มีความเหนียวแน่นแข็งแกร่งขึ้น 57 เปอร์เซ็นต์และเบากว่ารุ่นปัจจุบันที่ใช้วัสดุโลหะ 45 กก.
• ใช้นวัตกรรมใหม่ในการผสมวัสดุคอมโพสิตหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นฝากระโปรงและแผงหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ ขณะที่ซุ้มล้อ ประตูและด้านท้ายรถใช้การขึ้นรูปแบบแผ่นต่อเนื่อง (Sheet Molded Compound) ตลอดจนการใช้วัสดุคาร์บอน-นาโนสำหรับการผลิตพื้นรถที่ช่วยลดน้ำหนักลงได้ราว 17 กก.
• เครื่องยนต์ V8 รหัส LT1 เทคโนโลยีใหม่ผลิตพละกำลังมากกว่าเดิมโดยใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ประกบคู่ด้วยระบบเกียร์ธรรมดา 7 สปีดรุ่นแรกในอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matching ช่วยเพิ่มความเร็วและแม่นยำในการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นและลง
คอร์เวทท์ สติงเรย์ นำเทคโนโลยีการใช้วัสดุน้ำหนักเบา เทคนิคการผลิตที่ทันสมัยและเทคโนโลยีอันก้าวหน้ามาจากโครงการพัฒนารถแข่งคอร์เวทท์ เรซซิ่งเพื่อรักษาสมดุลน้ำหนักตัวรถหน้า/หลังแบบ 50/50 ทำให้เกิดอัตราส่วนน้ำหนักต่อแรงม้าที่อยู่แถวหน้าในระดับโลก
เทคโนโลยีอันล้ำสมัยที่ถือเป็นรากฐานสำคัญในคอร์เวทท์คือโครงสร้างอลูมิเนียมที่มีความเหนียวแน่นแข็งแกร่งกว่า 57 เปอร์เซ็นต์และน้ำหนักเบากว่าเดิม 45 กก. ความยืดหยุ่นและการให้ตัวที่ดีกว่าช่วยลดเสียงอันไม่พึงประสงค์และเพิ่มสมรรถนะการควบคุม
เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นก่อนหน้าซึ่งใช้ฐานโครงสร้างขึ้นรูปด้วยของเหลวผสานกับผนังที่มีความหนา 2 มม. แต่คอร์เวทท์รุ่นปัจจุบันใช้ฐานโครงสร้างลูมิเนียมห้าชิ้นประกอบกัน พร้อมกับใช้อลูมิเนียมอัดรีดขึ้นรูปทั้งด้านหน้า ด้านท้ายและส่วนตรงกลาง พร้อมใช้เทคนิคหล่อกลวงที่จุดเชื่อมต่อช่วงล่าง แต่ละชิ้นส่วนถูกผลิตขึ้นด้วยความหนาตั้งแต่ 2 มม.ถึง 11 มม. มีการออกแบบชิ้นส่วนให้รองรับกับการใช้งานแต่ละจุดของโครงสร้างตัวรถอย่างละเอียดเพื่อลดน้ำหนักให้ได้มากที่สุด
โครงสร้างของคอร์เวทท์ ผลิตที่โรงเชื่อมแห่งใหม่ภายในศูนย์การผลิตโบว์ลิ่งกรีน โดยการเชื่อมต่อแต่ละชิ้นส่วนใช้เลเซอร์และคอมพิวเตอร์ในการคำนวณเพื่อความแม่นยำสูงสุดและมีพิกัดความเผื่อราว 0.001 นิ้ว
เพื่อเสริมความแข็งแกร่งมากขึ้นและรีดน้ำหนักตัวรถให้เบากว่าเดิม โครงสร้างตัวรถยังมาพร้อมกับคานอลูมิเนียมหล่อกลวงทั้งด้านหน้าและด้านท้ายที่มีน้ำหนักเบากว่าเดิมราว 25 เปอร์เซ็นต์และมีความเหนียวแน่นแข็งแกร่งขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์เหนือกว่าโครงสร้างของรุ่นก่อนหน้า
การนำนวัตกรรมวัสดุใหม่มาใช้ยังรวมถึงฝากระโปรงและแผงหลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ รวมถึงเทคโนโลยีคอมโพสิตคาร์บอน-นาโนที่ใต้พื้นรถ การผสมผสานวัสดุคอมโพสิตเข้ากับคาร์บอนไฟเบอร์ช่วยลดน้ำหนักใต้พื้นรถลงโดยไม่สูญเสียความแข็งแรงและความเหนียวแน่น ขณะที่ซุ้มล้อ ประตูและด้านท้ายรถผลิตด้วยการขึ้นรูปแบบแผ่นต่อเนื่อง มีน้ำหนักเบากว่ารุ่นเดิม วัสดุต่างๆเหล่านี้ช่วยลดน้ำหนักลงได้ราว 17 กก.เมื่อเทียบกับโครงสร้างเดิม
ชิ้นส่วนน้ำหนักเบาของสติงเรย์ ทำให้เกิดการรักษาสมดุลน้ำหนักอันสมบูรณ์แบบที่ 50/50 เมื่อพิจารณาจากพละกำลังระดับ 450 แรงม้า คอร์เวทท์มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักเหนือกว่าพอร์ช 911 คาร์เรร่าและออดี้ อาร์ 8
แรงม้าทั้ง 450 ตัวมาจากขุมพลัง LT1 บล็อก V8 ความจุกระบอกสูบ 6.2 ลิตร มีแรงบิดอยู่ที่ราว 450 ฟุตปอนด์ ซึ่งมากกว่าเครื่องยนต์ 6.2 ลิตรเจนเนอเรชั่นเดิมที่ 50 ฟุตปอนด์และเท่ากับเครื่องยนต์ LS7 ความจุ 7.0 ลิตรของคอร์เวทท์ Z06 รุ่นปี 2013 ซึ่งแรงบิดมาที่รอบเครื่องยนต์ตั้งแต่ 1,000-4,000 รอบ/นาที
สมรรถนะของเครื่องยนต์เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยีอย่างหัวฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ระบบการจัดการเชื้อเพลิง Active Fuel Management และระบบวาล์วแปรผัน พร้อมด้วยระบบการเผาไหม้อันล้ำสมัย การออกแบบเสื้อสูบขนาดเล็กต้องผ่านการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์มากกว่า 10 ล้านชั่วโมง ขณะที่การพัฒนาระบบห้องเผาไหม้ต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 6 ล้านชั่วโมง
ขุมพลัง LT1 ยังมาพร้อมระบบระบายไอเสียแบบแอคทีฟที่มีข้อจำกัดน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้า ด้วยการขยายเส้นผ่าศูนย์กลางจาก 2.5 นิ้วเป็น 2.75 นิ้ว ช่วยเพิ่มการไหลลื่นมากขึ้น 13 เปอร์เซ็นต์และติดตั้งวาล์วปีกผีเสื้อสองตัวที่ช่วยทำให้การขับขี่ทางไกลราบรื่นยิ่งขึ้นเมื่อเครื่องยนต์ทำงานสี่ลูกสูบเพื่อความประหยัดเชื้อเพลิง
นอกจากนี้ ยังมีระบบระบายไอเสียแบบแอคทีฟคู่ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมพิเศษช่วยเพิ่มการไหลลื่นมากกว่าเดิม 27 เปอร์เซ็นต์ โดยเชฟโรเลต ได้ติดตั้งวาล์วเพิ่มเติมอีกสองตัวช่วยลดข้อจำกัดของท่อทางเดินไอเสีย เมื่อวาล์วนี้เปิดขึ้นจะยกระดับประสิทธิภาพเครื่องยนต์และเพิ่มสุ้มเสียงของท่อไอเสียที่ทรงพลังกว่าเดิม
เครื่องยนต์ LT1 มีระบบส่งกำลังทั้งแบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดพร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์และเกียร์ธรรมดา 7 สปีด TREMEC TR6070 ครั้งแรกของอุตสาหกรรมยานยนต์ มาพร้อมระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matching คอร์เวทท์ยังคงใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังเพื่อรักษาสมดุลน้ำหนักตัวรถให้ได้มากที่สุด
ระบบเกียร์ธรรมดา 7 สปีดทำงานร่วมกับเทคโนโลยีระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matching สำหรับการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นและลงได้อย่างรวดเร็ว ผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้ระบบนี้หรือปลดระบบนี้ออกเพียงแค่กดแป้นเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย เกียร์ 7 สปีดยังมาพร้อมกับดูอัลฟลายวีลและดูอัลคลัตช์ ซึ่งเพิ่มคุณภาพการเปลี่ยนเกียร์และลดอาการหน่วงช้าลงได้ ทั้งนี้ ระบบเกียร์ของแพ็คเกจ Z51 Performance Package มีช่วงสั้นกว่าเดิมเพื่อการขับขี่สไตล์ดุดันสูงสุด
“ระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matching ทำให้คอร์เวทท์ใหม่ ขับขี่ได้ง่ายดายขึ้นและสนุกกว่าเดิมเมื่อขับด้วยความเร็วสูง” เจคเตอร์ กล่าว “ระบบอิเลกทรอนิกจะคาดการณ์การเปลี่ยนเกียร์และจะควบคุมลิ้นคันเร่งให้เข้ากับรอบเครื่องยนต์เพื่อการเปลี่ยนเกียร์อย่างลื่นไหลไร้ที่ติ”
ขณะที่ระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด Hydra-Matic 6L80 ก็มาพร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์ให้ใช้เช่นกัน ถูกพัฒนามาเพื่อใช้งานร่วมกับระบบจัดการเชื้อเพลิง Active Fuel Management และมีระบบทอร์กคอนเวอร์เตอร์แบบใหม่ที่ให้ความรวดเร็วในการเปลี่ยนเกียร์อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ จังหวะและตำแหน่งการเปลี่ยนเกียร์ยังสามารถเลือกได้ที่โหมดการขับขี่อีกด้วย
เน้นความรู้สึกในการขับขี่ที่เข้าถึงตัวรถได้มากกว่า
• ระบบกันสะเทือนแม่เหล็ก Magnetic Ride Control เจนเนอเรชั่นที่สาม มอบความสบายและการควบคุมที่เหนือกว่า
• ระบบบังคับเลี้ยวไฟฟ้า ตอบสนองต่อการขับขี่ทุกรูปแบบ
• เกาะถนนอย่างมั่นคงสูงสุดด้วยเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิก
แชสซีส์และระบบช่วงล่างของคอร์เวทท์ สติงเรย์ ได้รับการออกแบบโดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่แข็งแกร่งและน้ำหนักเบา โครงสร้างที่มีความโค้งงอน้อยลงทำให้วิศวกรสามารถปรับเซ็ทช่วงล่างและพวงมาลัยได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อความเฉียบคมและการตอบสนองที่ว่องไวกว่า
“เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคอร์เวทท์ เจนเนอรชั่นที่เจ็ด คือการสร้างประสบการณ์การขับขี่ที่ใกล้ชิดกับตัวรถมากกว่าเดิม” ไมค์ ไบลีย์ วิศวกรระบบแชสซีส์ กล่าว “ไม่ว่าจะเป็นบนถนนหรือสนามแข่ง เราต้องการให้ผู้ขับขี่รู้สึกสะดวกสบายและมั่นใจเมื่อนั่งหลังพวงมาลัย”
คอร์เวทท์ สติงเรย์ ใช้ดีไซน์ช่วงล่างรองรับปีกนกแบบสั้น-ยาวสไตล์รถแข่งเหมือนเดิม แต่ชิ้นส่วนอื่นๆ ของช่วงล่างด้านหน้าและด้านหลังล้วนได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมด การปรับปรุงช่วงล่างยังรวมถึงคันบังคับหรือคอนโทรลอาร์มแบบกลวงที่ช่วยลดน้ำหนักลงได้ราว 4 กก. และการใช้แขนเชื่อมต่ออลูมิเนียมที่ลดน้ำหนักลงได้ราว 1.1 กก.เทียบกับการใช้โลหะแบบเดิม
คอร์เวทท์ สติงเรย์ ขับเคลื่อนบนล้ออัลลอยเนื้อฟอร์จขนาด 18 นิ้ว หน้ากว้าง 8.5 นิ้วที่ล้อหน้าและ 19 นิ้ว หน้ากว้าง 10 นิ้วที่ล้อคู่หลัง ขณะที่ Z51 Performance Package ใช้ล้อ 19 นิ้ว กว้าง 8.5 นิ้วและ 20 นิ้ว กว้าง 10 นิ้วที่ล้อหน้าและหลังตามลำดับ สวมทับด้วยยางมิชลิน ไพลอต ซูเปอร์ สปอร์ตแบบรันแฟลตที่พัฒนาขึ้นเพื่อคอร์เวทท์ เจนเนอเรชั่นที่เจ็ดโดยเฉพาะ มอบการเกาะถนนเหนียวแน่นหนึบกว่ายางที่มีหน้ากว้างกว่าของรุ่นเดิม
ทำให้คอร์เวทท์ สติงเรย์ เวอร์ชั่น Z51 Performance Package สามารถเข้าโค้งและสร้างแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลางได้ถึง 1จี เทียบเท่ากับคอร์เวทท์ แกรนด์ สปอร์ตรุ่นปี 2013 อันเกิดจากการใช้ล้อที่เบากว่าและมีหน้าแคบกว่า ซึ่งยังช่วยลดแรงเสียดทานขณะล้อหมุน ลดเสียงรบกวนจากพื้นถนน ลดแรงผู้ขับขี่ในการควบคุมพวงมาลัย พร้อมกับเพิ่มความเฉียบคม การตอบสนองขณะเลี้ยวรถและความสะดวกสบายในการเดินทางไกล รวมถึงความประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย
ระยะฐานล้อของคอร์เวทท์ มีความยาวมากกว่ารุ่นก่อนหน้าราวหนึ่งนิ้ว ขณะที่ระยะห่างระหว่างล้อคู่หน้าและคู่หลังก็กว้างขึ้นเกือบหนึ่งนิ้วเช่นกัน ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพิ่มความมั่นคงในการขับขี่โดยเฉพาะช่วงความเร็วสูง ขณะที่ระยะวงเลี้ยวลดลงราวสองฟุตช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจิกเข้าโค้งที่ค่อนข้างแคบ
คอร์เวทท์ สติงเรย์ ใช้ช็อกอัพกระบอกเดี่ยวขนาด 35 มม.ของบิลสไตน์ (Bilstein) ซึ่งเชื่อมเข้ากับเบ้าอลูมิเนียมสองทิศทางที่แยกแกนช็อกอัพและช็อกอัพโหลดตัวรถออกจากกัน สำหรับ Z51 Performance Package ใช้ช็อกอัพบิลสไตน์ขนาด 45 มม.ที่รองรับการขับขี่ที่ดุดันมากกว่าโดยเฉพาะในสนามแข่ง Z51 ยังมาพร้อมกับระบบกันสะเทือนแม่เหล็กเจนเนอเรชั่นที่สามซึ่งมาพร้อมระบบทวิน-ไวร์และดูอัล-คอยล์เพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองอีก 40 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยกระดับความสะดวกสบายในการขับขี่และการควบคุมตัวรถ
ระบบพวงมาลัยพาวเวอร์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มอบอัตราทดแปรผันและการตอบสนองที่แตกต่างออกไปตามสถานการณ์การขับขี่ ขณะเดียวกัน ยังให้การควบคุมที่แม่นยำมากขึ้นและให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมตัวรถขณะขับด้วยความเร็วได้เป็นอย่างดีด้วยความฉับไวในการรักษาศูนย์กลางที่ดียิ่งกว่า ความรู้สึกของพวงมาลัยที่ดียิ่งขึ้นเกิดจากการปรับปรุงแกนพวงมาลัยให้แข็งแรงกว่าเดิม 150 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มความเหนียวแน่นของเพลาอีก 600 เปอร์เซ็นต์และติดตั้งเพลาที่คานโครงสร้างด้านหน้า ทำให้ระบบบังคับเลี้ยวของคอร์เวทท์ใหม่ มีความเหนียวแน่นกว่าเจนเนอเรชั่นที่แล้วถึงห้าเท่า
เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิก (eLSD) อันชาญฉลาดถูกติดตั้งอยู่ใน Z51 Performance Package ทำหน้าที่ควบคุมให้แรงบิดเกือบทั้งหมดถูกถ่ายทอดระหว่างสองล้อหลังอย่างสมดุล ระบบนี้จะควบคุมคลัตช์ด้วยกลไกไฮโดรลิกให้จับพละกำลังเครื่องยนต์หลากหลายระดับในเวลาเพียง 0.1 วินาที การถ่ายเทแรงบิดอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณอัลกอริทึ่มขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งความเร็วรถ การหมุนพวงมาลัยและการเหยียบคันเร่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเกาะถนน ความสมดุลและความรู้สึกที่พวงมาลัย
“เฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิปอิเลกทรอนิกยกระดับสติงเรย์ ด้วยการเสริมประสิทธิภาพการควบคุมให้เหมาะสมกับสถานการณ์การขับขี่มากที่สด” ไมค์ ไบลีย์ วิศวกรระบบแชสซีส์ กล่าว “eLSD ถ่ายเทแรงบิดให้ได้สมดุลระหว่างล้อหลัง เพิ่มสมรรถนะการเกาะถนนในการกดคันเร่งออกจากโค้ง ให้เสถียรภาพบนทางหลวงทางไกลและเสริมการตอบสนองขณะจิกพวงมาลัยเข้าโค้ง”
eLSD ทำงานอย่างเต็มรูปแบบร่วมกับระบบรักษาเสถียรภาพ StabiliTrak และระบบการจัดการสมรรถนะการขับขี่ Performance Traction Management โดยแบ่งการคำนวณออกเป็นสามโหมด ขึ้นอยู่กับโหมดการขับขี่ที่เลือกไว้
• โหมด 1 เป็นโหมดมาตรฐานสำหรับการขับขี่ปกติและเน้นที่เสถียรภาพของตัวรถ
• โหมด 2 คือการเริ่มทำงานเมื่อระบบรักษาเสถียรภาพถูกปลดออกในโหมดขับขี่ Sport หรือ Track ทำให้การขับขี่มีความคล่องแคล่วมากขึ้นและเกาะถนนขณะพุ่งทะยานออกจากโค้งดีกว่าเดิม
• โหมด 3 จะถูกตั้งค่าโดยอัตโนมัติเมื่อระบบการจัดการสมรรถนะการขับขี่ Performance Traction Management ทำงาน โหมด 3 มีการทำงานเหมือนกับโหมด 2 แต่จะถูกปรับเซ็ทให้ทำงานร่วมกับระบบการจัดการสมรรถนะการขับขี่โดยเฉพาะ
ระบบเบรกของคอร์เวทท์ สติงเรย์ เป็นของแบรนด์เบรมโบ (Brembo) ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานจากโรงงาน ทำงานคู่กับคาลิปเปอร์เบรกสี่สูบที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสนามแข่ง ให้ประสิทธิภาพการหยุดรถอันยอดเยี่ยมทั้งบนถนนและในสนาม คุณสมบัติเด่นของระบบเบรก คือ:
• จานดิสก์เบรกด้านหน้าขนาด 320 มม. ด้านหลัง 338 มม.เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน มีพื้นที่สัมผัสระหว่างผ้าเบรกกับจานดิสก์เบรกเพิ่มขึ้นกว่ารุ่นเดิม 35 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพการหยุดรถจึงสูงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์
• Z51 Performance Package มาพร้อมจานดิสก์เบรกขนาด 345 มม.ที่ล้อหน้าและ 338 มม.ที่ล้อหลัง มีพื้นที่สัมผัสระหว่างผ้าเบรกกับจานดิสก์เบรกเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรุ่นแกรนด์สปอร์ตเดิม พร้อมกับมีร่องระบายความร้อนทั้งหน้าและหลังรองรับการกดเบรกอย่างหนักหน่วง มีประสิทธิภาพการเบรกมากกว่าเดิม 5 เปอร์เซ็นต์
• แพ็คเกจเบรกทั้งหมดที่ติดตั้งทั้งด้านหน้าและหลังมีความเหนียวแน่นมากกว่าเดิม ยกระดับการควบคุมแรงเบรกและลดการเสียดสีลง
ข้อมูลทางเทคนิคเบื้องต้น เชฟโรเลต คอร์เวทท์ สติงเรย์ 2014
ภาพรวม
รุ่นเชฟโรเลต คอร์เวทท์ สติงเรย์ 2014
รูปแบบตัวถัง/ระบบขับเคลื่อนคูเป้ แฮทช์แบ็ก 2 ประตู ถอดเลื่อนแผงหลังคาได้ ขับเคลื่อนล้อหลัง
โครงสร้างตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์และวัสดุผสมคอมโพสิต เฟรมอลูมิเนียมขึ้นรูปด้วยของเหลว โครงสร้างและแชสซีส์ทำจากอลูมิเนียมและแม็กนีเซียม
ศูนย์การผลิตโบว์ลิ่งกรีน รัฐเคนตักกี้

เครื่องยนต์
LT1 6.2 ลิตร V8
ความจุกระบอกสูบ (ซีซี)6162
กระบอกสูบ x ช่วงชัก (มม.)103.25 x 92
วัสดุเสื้อสูบอลูมิเนียมหล่อ
วัสดุฝาสูบอลูมิเนียมหล่อ
ระบบวาล์ววาล์วเหนือฝาสูบ สองวาล์วต่อลูกสูบ
การจ่ายเชื้อเพลิงหัวฉีดตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้หรือไดเรค อินเจคชั่น
อัตราส่วนกำลังอัด11.5:1
แรงม้าสูงสุด450 แรงม้า (โดยประมาณ)
แรงบิดสูงสุด610 นิวตันเมตร (โดยประมาณ)



ระบบส่งกำลัง
ประเภทเกียร์ธรรมดา 7 สปีดพร้อมระบบประสานรอบเครื่องยนต์ Active Rev Matchเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมแป้นเปลี่ยนเกียร์

แชสซีส์/ระบบกันสะเทือน
ด้านหน้าช่วงล่างรองรับปีกนกแบบสั้น/ยาว (SLA) ดับเบิลวิชโบน คอนโทรลอาร์มอลูมิเนียมทั้งบนและล่าง สปริงคอมโพสิทแนวขวาง ช็อกอัพกระบอกเดี่ยว
ด้านหลังช่วงล่างรองรับปีกนกแบบสั้น/ยาว (SLA) ดับเบิลวิชโบน คอนโทรลอาร์มอลูมิเนียมทั้งบนและล่าง สปริงคอมโพสิทแนวขวาง ช็อกอัพกระบอกเดี่ยว
ระบบควบคุมระบบกันสะเทือนแม่เหล็ก (Magnetic Selective Ride Control – มีเฉพาะในรุ่น Z51)
ระบบรักษาเสถียรภาพระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัวอิเลกทรอนิก StabiliTrak

ระบบเบรก
ประเภทคาลิปเปอร์เบรกแบบสี่สูบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พร้อมระบบช่วยเบรกไฟฟ้า (รุ่น Z51 ใช้จานดิสก์เบรกแบบระบายความร้อน)
ขนาดจานดิสก์เบรก (มม.)ด้านหน้า 320 (Z51 ใช้ขนาด 345)ด้านหลัง 338

ล้อและยาง
ขนาดล้อด้านหน้า 18 นิ้ว หน้ากว้าง 8.5 นิ้ว (สติงเรย์)ด้านหน้า 19 นิ้ว หน้ากว้าง 8.5 นิ้ว (รุ่น Z51)ด้านหลัง 19 นิ้ว หน้ากว้าง 10 นิ้ว (สติงเรย์)
ด้านหลัง 20 นิ้ว หน้ากว้าง 10 นิ้ว (รุ่น Z51)

ยางมิชลิน ไพลอต ซูเปอร์ สปอร์ตแบบรันแฟลตด้านหน้า P245/40R18 (สติงเรย์)ด้านหน้า P245/35R19 (รุ่น Z51)
ด้านหลัง P245/35R19 (สติงเรย์)
ด้านหลัง P285/30R20 (รุ่น Z51)


มิติตัวถังภายนอก
ระยะฐานล้อ (มม.)2710
ความยาว (มม.)4495
ความกว้าง (มม.)1877
ความสูง (มม.)1235
การกระจายน้ำหนัก (หน้า/หลัง)50 / 50

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น