วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

รีวิว 2012 Subaru Outback 2.5i กรุงเทพฯ-นครปฐม ระยะทาง 300 กิโลเมตร


เมื่อพูดถึงรถยนต์ SUV หรือ crossover จากญี่ปุ่น หลายๆคน คงนึกถึงแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบทั้งหลาย รวมถึงแบรนด์ที่ได้ออกสื่อโฆษณากันให้เห็นบ่อยจนจำได้ แต่เชื่อว่า ต้องมีหลายคนที่ไม่รู้จัก หรือ ลืมนึกถึงรถยนต์จากค่ายดาวลูกไก่ อย่าง Subaru Outback คันนี้ เพราะแบรนด์ Subaru นั้น ทุกคนคงจะรู้จักกันดีกับสมญาความแรงของ Impreza ไม่ว่าจะเป็นตัว WRX หรือ ตัว Top Line อย่าง STI แต่มาในวันนี้ คุณจะได้จดจำภาพลักษณ์ใหม่ของ Subaru ว่ามันไม่ได้มีเฉพาะรถที่แรง ซดน้ำมันเก่ง นั่งไม่สบาย ดูไม่มีความหรูเสียเลย เพราะวันนี้เราจะพาคุณมาพบกับรถ SUV ระดับหรูจากค่ายดาวลูกไก่ อย่าง Subaru Outback คันนี้
รูปลักษณ์ภายนอกของ SUV อย่าง Subaru Outback นี้ ดูเหมือนจะเป็นการ ยกระดับจาก Legary Wagon ออกมา เพราะทรงของไฟหน้า-ไฟท้าย รวมถึงเส้นสายบริเวณโป่งหน้า-หลัง รวมถึงหลังคา Sunroof ทั้งหมดนี้ช่างดูคล้ายคลึงกันยังกับโคลนตามกันมา ที่ต่างกันแบบเห็นได้ชัดนั่นคือ กระจังหน้า โคมไฟหน้าของ Legary Wagon เป็นรมดำ และ Legary จะไม่มีราวหลังคา รวมถึงมิติความสูง ที่ทั้งหมดนี้ค่อยแยกให้เห็นได้อย่างแตกต่าง ในส่วนของอุปกรณ์มาตรฐานนั้น ไฟหน้าเป็นโปรเจ็คเตอร์ HID ไฟตัดหมอกหน้า ไฟเลี้ยวแบบ LED ที่กระจกมองข้าง กระจกแบบกันรังสี UV รอบคัน Sunroof ราวหลังคา กระจกปัดน้ำฝนหลัง สปอยเลอร์หลัง ล้ออัลลอย ขอบ 17”
DSC_0891_resize
รูปโฉมภายใน สำหรับในตัว Outback นั้น สามารถเลือกวัสดุภายในได้ว่า เป็นผ้า หรือ หนัง และสีมีให้เลือก 2 สี คือ ดำ และ เบจ (Ivory) โดยในคันนี้เป็น วัสดุหนังสีดำ ภายในนั้น มีให้ทั้งความสะดวกสบายหรูหราครบครัน เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 10 ระดับ ได้แก่ สูง-ต่ำ เลื่อนหน้า-หลัง เอนด้านหน้า-หลัง และตัวปรับดันหลัง ซึ่งมีหน่วยความจำ save ได้ 2 ค่า อยู่บริเวณมือจับประตูของฝั่งคนขับ ในขณะที่เบาะด้านคนนั่งจะปรับได้ 8 ทิศทาง คือ ไม่มีตัวดันหลัง ปุ่ม Push Start Engine ปุ่มเบรกมือไฟฟ้า ปุ่มปิดระบบควบคุมการทรงตัว รวมถึงปุ่มปรับกระจกมองข้างไฟฟ้า จะอยู่ที่ด้านขวาของพวงมาลัย สำหรับพวงมาลัยแบบ 3 ก้านหนังพวงนี้ มากับสวิทช์ Multifunction, Cruise Control, ปุ่มควบคุมรับ-วางโทรศัพท์ และก้าน Paddle Shift สำหรับหน้าปัดนั้นดูเรียบง่าย มีมาตรวัด 4 วง ได้แก่ ความเร็ว, วัดรอบ, ระดับน้ำมันคงเหลือ, อัตราสิ้นเปลือง + – ต่อหน่วย ลิตร/100กม. ในส่วนแผงแดชบอร์ดด้านบน จะพบจอ MID ซึ่งแสดงข้อมูลอัตราสิ้นเปลือง, ระยะทางที่เหลือวิ่งได้, นาฬิกา, อุณหภูมิภายนอก คอนโซลกลางนั้นมีชุดเครื่องเสียงที่มาพร้อมกับจอขนาด 4.3” 1CD พร้อมระบบเชื่อมต่อ Bluetooth กับโทรศัพท์ ถ่ายทอดพลังเสียงผ่านไปยังลำโพง 6 ตัว โดยที่หน้าจอนี้จะเชื่อมต่อกับกล้องมองภาพหลังรถแสดงภาพขณะเข้าเกียร์ R โดยอัตโนมัติ ถัดลงมาเป็นช่องลิ้นชักพับเปิด-ปิดได้ ซึ่งเป็นช่องเก็บของที่วางของได้ค่อนข้างลึก ถัดลงมาอีกเป็น ระบบปรับอากาศเป็นแบบอัตโนมัติแยกอิสระซ้าย-ขวา และยังมีช่องปรับอากาศให้ผู้โดยสารตอนหลังด้วย ในส่วน Port USB, AUX ซ่อนอยู่ในกล่องเก็บ CD บริเวณไฟส่องแผนที่ จะมีช่องเก็บแว่น และปุ่มควบคุมการเปิด-ปิด Sunroof เบาะตอนหลังพับได้แบบ 60:40 โดยบริเวณพื้นที่สัมภาระด้านท้าย จะมีมือโยกแบบ 1 touch folding ให้ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ด้านหลังจะมีคานเหล็กมาให้พร้อมกับแผงบังแดด ซึ่งดึงเลื่อนออกมาไว้เป็นชั้นวางของได้
DSC_0875_resize
พละกำลังเครื่องยนต์ เป็นแบบสูบนอน 180องศา Boxer ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของทาง Subaru ซึ่งจะมีจุดที่โดดเด่นกว่ารูปแบบ อื่นๆ ได้แก่ ความมีเสถียรภาพในการทรงตัวที่ดีกว่า จากลูกสูบนอน ทำให้จุดศูนย์ถ่วงตัวถังต่ำ จึงทำให้มี Balance ที่ดีกว่า, แรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์จะน้อยกว่าแบบ V-type หรือ แบบสูบเรียง รวมถึงการเดินของเครื่องที่ Smooth ราบเรียบกว่า และเสียงเงียบกว่า สำหรับใน Subaru Outback 2.5i คันนี้ ที่ทางมอเตอร์อิมเมจ นำเข้ามาทำตลาดบ้านเรา เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบนอน SOHC 16 วาล์ว รหัส EJ25 ความจุ 2,457cc ซึ่งสร้างพละกำลังได้สูงสุด 167แรงม้า@5600rpm กับแรงบิด 229Nm@4000rpm สามารถทำอัตราเร่ง 0-100กม./ชม. ได้ภายใน 10.4วินาที กับ ความเร็วสูงสุด 198กม./ชม. (ในตำแหน่งเกียร์ D) อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้งในเมืองและนอกเมืองอยู่ที่ 9.1ลิตร/100กม. และมีระดับการปล่อยไอเสีย CO2 เฉลี่ยทั้งในเมืองและนอกเมืองอยู่ที่ 214กรัม/กก. ตามสเป็กที่เคลมไว้ในโบรชัวร์
ระบบส่งกำลังและการควบคุม เกียร์ใน Subaru Outback 2.5i คันนี้เป็นแบบอัตโนมัติ 6 Speed CVT ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Lineartronic พ่วงมากับระบบ Active Torque Split AWD (ระบบขับเคลื่อน 4ล้อ ที่มาพร้อมระบบกระจายแรงบิดไปยังทุกล้อตามที่แต่ละล้อต้องการ) ซึ่งเป็นเกียร์แบบ CVT ที่ออกแบบมาเฉพาะกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ด้านพวงมาลัยเป็นแบบแร็คแอนด์พีเนียนผ่อนแรงไฟฟ้า EPS ตามแบบฉบับรถผู้ดีทั่วไป
DSC_0899_resize
ระบบกันสะเทือนและเบรก ระบบช่วงล่างนั้นเป็นแบบอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าเป็น อิสระแม็คเฟอร์สันสตัรท คอยล์สปริง ด้านหลังแบบ อิสระปีกนกคู่ (Double Wishbone) คอยล์สปริง ระบบเบรก ด้านหน้า เป็นดิสก์ระบายความร้อน ด้านหลัง เป็นดิสก์เบรกธรรมดา ซึ่งต่างจากรุ่น 3.6R ที่หลังจะเป็น ดิสก์ระบายความร้อนเหมือนกับด้านหน้า และแถมด้วยระบบเบรกมือแบบไฟฟ้า ซึ่งใช้มอเตอร์ในการควบคุมเบรกที่ล้อคู่หลัง โดยที่จะมีปุ่ม P ให้กดที่บริเวณขวามือของพวงมาลัย เมื่อกดแล้วจะมีไฟแดงขึ้นโชว์สถานะ พร้อมทั้งจะได้ยินเสียงมอเตอร์ไฟฟ้าดังขึ้นจากทางด้านหลัง และเมื่อต้องการยกเลิกก็ใช้นิ้วดึงออกเข้าหาตัว
ระบบความปลอดภัย ในด้านระบบเบรกนั้น ก็มีมาให้ครบ ที่ควรจะมีทั้งหลาย ABS, EBD, BA กุญแจอัจฉริยะแบบ Immobilizer ระบบควบคุมการทรงตัว (Vehicle Dynamics Control System with OFF switch) ระบบ Traction Control ระบบ Hill Holder ช่วยป้องกันการไถลในขณะออกตัวที่พื้นชัน สำหรับถุงลมนิรภัย SRS มีมาให้ครบทั้ง คู่หน้า, ม่านนิรภัยด้านข้าง และที่ตำแหน่งหัวเข่าด้านคนขับ รวมถึง Seatbeats คู่หน้าเป็นแบบ ERL 3 จุด ลดแรงปะทะและดึงกลับอัตโนมัติ Pretensioner & Loadlimiter ที่ปรับระดับความสูงได้ สำหรับ Outback 2.5i คันนี้จะไม่มี SI-Drive มาให้เล่น อย่างในตัว 3.6R
ขับทดสอบ Subaru Outback กรุงเทพฯ-นครปฐม
DSC_0918_resize
สำหรับการขับทดสอบในครั้งนี้ ขอขอบคุณ บริษัท มอเตอร์อิมเมจ ประเทศไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อรถมาให้ทดสอบในครั้งนี้ โดยคันที่ได้มานี้เป็น Subaru Outback 2.5i สีขาว Satin White Pearl ในการวิ่งทดสอบครั้งนี้ เป็นระยะทางกว่า 300กม. ซึ่งในช่วงแรกที่ทำการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองนั้น โดยได้วิ่งทดสอบบริเวณพื้นที่ กรุงเทพ-นครปฐม จำนวนระยะทางที่ใช้ในการคำนวณทั้งหมด 108.8 กม. เติมน้ำมันกลับเข้าไปเอาแค่หัวจ่ายตัดได้ 7.835ลิตร คิดอัตราสิ้นเปลือง = 13.886 กม./ลิตร ถือว่าประหยัดกว่าที่คิดไว้มาก มันเทียบเท่า รถ Sub-Compact เลยนะนั่น กับระบบขับ AWD เครื่อง 2.5 ลิตร และขนาดตัวที่เทอะทะ ทำได้ระดับนี้ถือว่ายอดเยี่ยมมาก
-หมายเหตุ ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 กับสภาพการจราจรที่มีติดบ้างพอสมควร ส่วนใหญ่เคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับโล่ง ทำความเร็วเฉลี่ยที่ 90-100กม./ชม.
DSC_0843_resize
หลังจากที่ได้ติดต่อกับทาง มอเตอร์อิมเมจ ประเทศไทย ก็ได้นัดหมายให้ไปรับรถที่สาขาปิ่นเกล้า ซึ่งเมื่อเข้าไปถึง ก็พบ เจ้า Outback สีขาวคันนี้จอดรออยู่ คันเดียว ใน โชว์รูมและศูนย์ยริการแห่งนี้ หลังจากที่ได้เซ็นต์เอกสารรับรถเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เดินไปเปิดประตูรถ ซึ่งเป็นกุญแจแบบอัจฉริยะ สามารถเปิดประตูรถได้โดยที่ไม่ต้องมากดที่ปุ่มตรงตัวกุญแจ ทำให้สะดวกสบายขึ้นมาก หลังจากที่เข้าไปนั่งเป็นที่เรียบร้อย ก็ทำการเหยียบเบรก และกดปุ่ม Push Start Engine แล้วจึงทำการปรับเบาะไฟฟ้า ซึ่งปรับได้ถึง 10ทิศทาง, กระจกมองข้างไฟฟ้า รวมถึงพวงมาลัยปรับระดับได้ 4 ทิศทาง และก่อนที่พร้อมจะเคลื่อนตัวต้องทำการปลดล๊อคเบรกมือไฟฟ้า ด้วยการดึงปุ่ม P ที่อยู่ด้านขวาของพวงมาลัยเข้าหาตัวก่อนที่จะพร้อมเข้าเกียร์ เลื่อนตำแหน่งไปยัง D พร้อมออกตัวได้ ลืมบอกไป สำหรับเบาะนั่งนั้นให้ความกระชับตัวดี กับคนหุ่นไซส์อย่างผม (ตัวไม่ได้ใหญ่มาก) ซึ่งต่างจากพวกกระบะ หรือ PPV ที่เบาะจะกระชับสำหรับคนตัวสูงใหญ่ แต่ว่านั่งขับกันยาวๆ อาจดูไม่ค่อยสบายนัก แต่ยังดีทีมีตัวปรับดันหลังช่วยไว้หน่อย แต่ในส่วนคอนั้นก็ยังคงเมื่อยอยู่ดี หลังจากที่ได้จับหัวเกียร์ของเจ้า Outback นี้รู้สึกได้เลยว่า จับได้ค่อนข้างกระชับพอดี ไม่ดูเล็กหรือใหญ่จนเกินไป และดูมีความสวยงามหรูหรา ระบบปรับอากาศแบบแยกอิสระซ้าย-ขวา ดูจะใช้งานลำบากไปนิด และปุ่มสวิทช์ไฟฉุกเฉินยังรู้สึกว่าอยู่ต่ำไปหน่อย เวลาจะจิ้มใช้อาจต้องควานมือลงมา หรือละสายตาเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งอาจไม่ปลอดภัยนัก แต่ถ้าขับใช้งานไปเรื่อยๆ ก็คงชิน หลังจากที่ได้ลองขับมาสักพัก พบสิ่งที่ดูจะไม่ชอบเอาเสียเลย คือ มีปัญหากับปุ่มอากาศไหลเวียนภายในรถที่มักจะ ต้องมากดใหม่ ไม่ให้อากาศภายนอกไหลเข้าอยู่เสมอ หลังจากดับเครื่อง และติดเครื่องใหม่ ก็ยังคงเป็นอยู่ จะมารู้ตัวอีกทีเมื่อกลิ่นควันไอเสียได้หลุดลอยเข้ามาภายในห้องโดยสารแล้ว และเจ้ารถคันนี้ก็ มีเซ็นเซอร์จับตำแหน่งคนนั่งทุกตำแหน่ง ถ้าหากนั่งแล้ว ไม่คาดเข็มขัด จะมีไฟเตือนโชว์ ขึ้นทีจอ MID และ เมื่อทำการเคลื่อนตัวออกไปจะ ร้องส่งเสียงให้หนวกหูกันเลยทันที สำหรับตรงแผงหน้าปัด มาตรวัดวงซ้าย ดูจะไม่ค่อยมีความจำเป็นนัก นั่นคือ มาตรวัดบอกอัตราสิ้นเปลืองหน่วย L/100km หากคุณขับรถอย่างประหยัด เข็มจะตกลงมาที่ด้าน – หาก รถติดหรือขับแบบเอาความมันส์ของเครื่องยนต์ Boxer เข็มก็จะกระดิกไปทางแดน + ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่า มีมาให้เหมือนเป็นของเล่นอย่าง เช่น รถ Honda ที่มีไฟบอกสถานะหากขับแบบประหยัดจะออกมาเป็นสีเขียว ซึ่งที่จริงแล้วไม่มีความจำเป็นเพราะ สามารถมองอัตราสิ้นเปลืองเป็นตัวเลขจาก จอ MID ได้ ซึ่งให้เป็นตัวเลขเลย จะมีความชัดเจนกว่า
DSC_0866_resize
สำหรับทัศนะวิสัย เมื่อปรับเบาะลงต่ำสุด ก็ยังคงสามารถมองเห็นได้อย่างปกติตามในรูปแบบ SUV ที่ยกสูงจะมองเห็นภาพรวมโดยทั่วๆไป สำหรับเสา A คู่หน้าดู จะค่อนข้างลาดชัน Slope พอสมควรซึ่งเวลา หันเลี้ยวกลับรถ นั้น ก็ดูจะมองลำบากไปหน่อย เช่นเดียวกับเสา B ที่เมื่อมีผู้โดยสารนั่งข้างจะยิ่งทำให้การกลับรถมองดูได้ยากขึ้น สำหรับ เสา C นั้นดูไม่ค่อยจะมีอะไรเท่าไร แต่เสา D ค่อนข้างหนาเทอะทะ และด้วยตัวหลังคารถ ที่ไม่ได้สูงโปร่งสักเท่าใดนัก มันทำให้ เวลามองไปด้านหลังเมื่อต้องการจะเปลี่ยนเลนนั้น อาจจะมองได้ลำบากหน่อย ยิ่งถ้ามีรถยนต์ซัดแซงมาด้วยความเร็วด้วยแล้ว ต้องระมัดระวังเป็นอันมาก หรือรถมอเตอร์ไซค์ ที่ซอกแซก มาโดยไม่ทันตั้งตัวเช่นกัน สำหรับกระจกมองข้างนั้นบานใหญ่มองชัดเจนตามสไตล์ SUV ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
subaru-outback-performance
ด้านพละกำลังสมรรถนะเครื่องยนต์ ของรูปแบบ Boxer สูบนอน EJ25 บล็อกนี้ เสียงเครื่องนิ่งเงียบมากจริงๆ รวมถึงการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารก็ทำได้ดี ถ้าอยากได้ยินเสียง Boxer ชัดๆ ต้องลากรอบกันสูงมาก และอัตราเร่งแรงดึงมีหลังติดเบาะได้เหมือนกัน แค่ 167hp แต่ต้องไม่ลืมว่ารถที่กำลังขับอยู่นี่เป็นรถในตัวถัง SUV ซึ่งมีมิติตัวรถที่ใหญ่เทอะทะและยาวอีกต่างหาก ไม่ใช่รถ Sedan ขนาดกลางแต่อย่างใด แต่แรงเอาเรื่อง การตอบสนองของคันเร่งไฟฟ้าทำได้ ไว กระฉับกระเฉง ไม่ได้ดูชักช้าอืดอาดถึงขั้นต้องรอคอยกันนาน ในด้านการทดสอบอัตราเร่ง 80-120กม./ชม. ทำได้ใน 8.37 วินาที ในโหมด D ปกติ ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยมมากทีเดียว ทำได้ดีกว่า Pajero V6 เล็กน้อย ทั้งที่นั่ง 2 คน กับ Top Speed ที่ลองทำดูได้ ราว 190กม./ชม. + นิดหน่อยตามหน้าปัด ซึ่งเท่าที่ดูน่าจะทำได้เต็มที่ ก็ไม่น่าเกิน 198กม./ชม. ตามที่เคลมในโบรชัวร์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจากสภาพเส้นทางการจราจร รวมถึงน้ำมันที่ใช้ นอกจากนั้นยังได้ทดสอบอัตราเร่ง จากเครื่องวัด OBD II Bluetooth ได้ค่าต่างๆ ตามภาพ ดังนี้ 0-100กม./ชม. ใน 10.6วินาที 1/4mile ได้ 17.9วินาที ที่ความเร็ว 132กม./ชม. แรงม้าสูงสุดที่วัดได้ในการวิ่งทดสอบอัตราเร่งนี้ ออกมาที่ 104.4hp@4820rpm แรงบิดสูงสุดออกมาที่ 120.9 ปอนด์-ฟุต โดยที่ใช้เกียร์ M ในการทดสอบ และไม่ทำการ Shift เกียร์เอง กดคันเร่งอย่างเดียวจนให้รอบมันตัดขึ้นเอง ที่ราวๆ 6000rpm +
- หมายเหตุ ค่าที่ได้นี้ วัดจากการทดสอบอัตราเร่ง และ Top Speed เพียง 2 ครั้งเท่านั้น และค่าที่ขึ้นโชว์นี้เป็นค่าที่ดีที่สุด
DSC_0844_resize
ด้านความสัมพันธ์ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ ได้ทำการวัดที่ 3 ค่า ดังนี้ 80กม./ชม.=1400rpm 100กม./ชม.=1700rpm 120กม./ชม.=2100rpm สำหรับเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed ลูกนี้ เป็นเกียร์ CVT ที่มากับโหมดการขับขี่ 2 แบบ D และ M โดยที่ M ต้องเลือกเปลี่ยนเกียร์ที่ Paddle Shift เท่านั้น ซึ่งหากความเร็วขึ้นไม่ถึงตามที่กำหนด เกียร์จะไม่ยอมขึ้นให้ สำหรับอัตราทดเกียร์ในโหมด M จะแตกต่างจากแบบ D อยู่เล็กน้อย เพื่อให้การตอบสนองที่ค่อนข้างทันใจยิ่งขึ้น สำหรับเจ้าเกียร์ลูกนี้ ให้ความนุ่มนวลดีมากๆ และการตอบสนองไหลลื่นดีต่อเนื่อง เร่งมาอย่างแรง ถอนคันเร่งขึ้นเกียร์เดินรอบต่อ กำลังเครื่องไม่ห้อย และไม่ได้รู้สึกกระชากแต่อย่างใด ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกชอบมาก ถือเป็นรถยนต์เกียร์ CVT ที่ดีที่สุดที่เคยได้ขับมาเลยก็ว่าได้ ตอบสนองไวทันใจ และ Smooth นุ่มนวลจริง แม้ยามขับแบบเค้นพละกำลังก็ตาม
DSC_0819_resize
ต่อกันกับ handling ของพวงมาลัยแบบไฟฟ้า 3ก้านหนัง วงนี้ น้ำหนักค่อนข้างเบาตามสไตล์พวงมาลัยไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ดูเบามากมายนัก แต่ก็ถือว่าใช้งานง่ายสะดวกในการขับขี่ตัวเมือง ที่ต้องทำการเปลี่ยนเลน หรือซอกแซก ได้ไม่ลำบากนัก เมื่อขับขี่ที่ความเร็วเพิ่มขึ้น น้ำหนักความหนืดกำลังดี และมีระยะฟรีที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป ยังให้ความมั่นใจได้เมื่อขับขี่ความเร็วสูง สามารถขับแบบประคองมือเดียวได้ เมื่อเดินทางไกลใช้ความเร็วที่ระดับพอสมควร
ระบบเบรก ที่เป็นแบบดิสก์ 4 ล้อคันนี้ ทำได้ดีนุ่มนวลมากๆ แน่นหนึบสั่งหยุดเท้า แต่การเซ็ตมานั้นดูจะต้องลงน้ำหนักเท้ามากหน่อย เพราะถ้าเบรกแบบเลียๆแล้ว รถจะไหลเอาไม่ค่อยอยู่ ต้องกินระยะทางยาวทีเดียวกว่าจะหยุดสนิท คือ โดยภาพรวมแล้ว เหมือนว่าการเซ็ตเบรก ออกมาได้ดีนุ่มนวล เหมือนจะให้ฟีลลิ่งนั้นออกมา แนวๆ ยุโรปเลยก็ว่าได้ แต่อย่าลืมว่าเท้าลงหนักหน่อยนะ ไม่ต้องกลัวว่าเบรกแล้วจะหัวทิ่ม ลงน้ำหนักไปได้เลย มันนุ่มนวลดีมากๆ
DSC_0881_resize
สำหรับระบบกันสะเทือนช่วงล่าง เป็นแบบอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าเป็น อิสระแม็คเฟอร์สันสตัรท คอยล์สปริง ด้านหลังแบบ อิสระปีกนกคู่ (Double Wishbone) คอยล์สปริง ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ฟีลลิ่งที่ได้นั้น ชัดเจนว่าทำมาเน้นนั่งสบายให้ความนุ่มนวล ซึ่งต้องบอกได้เลยว่าช่วงล่างที่นุ่มนวล แบบนี้น้องๆ รถยุโรปเลย ทำได้ประทับใจ ในส่วนของการซึมซับแรงสั่นสะเทือนจากพื้นเข้าสู่ห้องโดยสารนั้นก็ทำได้ดีมาก กับพื้นถนนประเทศไทยที่เป็นหลุมบ่อ ขรุขระ ทางสุดยอดแย่ มันก็ยังคงซึมซับแรงได้ดีก่อนเข้ามาในห้องโดยสาร ไม่ทำให้เกิดอาการปั่นป่วนท้องไส้กันนัก สำหรับการขับขี่ที่ความเร็วสูงรู้สึกว่าเกาะถนนดี ไว้ใจได้ เนื่องจากตัวรถหนักด้วย อาจดูโคลงเล็กน้อยเนื่องจากการเซ็ตช่วงล่างมานิ่มเน้นนั่งสบาย แต่ไม่ได้ถึงกับทำให้หวาดเสียวเล่นแต่อย่างใด ถ้าไม่ได้ซัดไปถึงใกล้ๆ Top Speed มันยังให้ความหนึบแน่นดี เมื่อได้ลองในช่วงเข้าโค้งดูบ้าง การขับตะกาย 4 เทโค้งบนด่วนเกือบ 100 ยางดังเอี๊ยด รถไม่ถึงกับโคลงเคลงมาก แค่ยุบยวบลงตามแรงเหวี่ยงของการเข้าโค้ง บวกกับการเซ็ตช่วงล่างที่นิ่มจึงไม่แปลกนักที่จะ มีการเคลงคลอนตัวยุบยวบกันให้เห็นบ้าง แต่ไม่มีอาการของตัวรถออก เนื่องจากระบบช่วยการทรงตัว และ AWD ยังคงช่วยทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี แต่ทั้งนี้อย่างไรก็ ตาม อย่าลืมว่ามันยังเป็นรถ SUV ที่ออกแบบมาเพื่อการใข้งานครอบครัว เน้นเอาใจผู้ใหญ่นั่งสบาย ดังนั้นคงไม่เหมาะที่จะเอาไปใช้เทโค้งซัดเอามันส์ ถ้าคิดเช่นนั้น จัด WRX เลยจะดีกว่า เพราะราคาไล่เลี่ยกัน
DSC_0798_resize
สรุป ใครจะไปเชื่อว่า รถจากค่ายดาวลูกไก่ อย่าง Subaru Outback คันนี้ จะทำอัตราสิ้นเปลืองได้ประหยัดเทียบเท่ารถ B-segment และประหยัดกว่า Pajero Sport V6 เกือบเท่าตัว (จากที่เราทำทดสอบได้) ซึ่งโดยรวมแล้วมันเป็น SUV หรูที่ให้ความสะดวกสบาย และดูภูมิฐาน เหมาะกับภาพลักษณ์ของผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถขับใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเดินทางไกล กับเส้นทางที่ลุยได้ ไม่ถึงขนาด Off-Road หรือ ใช้งานในตัวเมือง รวมถึงการขับขี่ที่ต้องการความเร็ว หรือทำเวลา มันก็ยังทำได้ดี การยึดเกาะถนน ก็ยังทำได้ดี ถ้าหากไม่เอาไปโยนโค้งแรงนัก เบรกช่วงล่างนุ่มนวลมาก ทุกอย่างฟังดูแทบจะดูดีหมดแล้ว แต่มาหยุดให้คิดกันตรงที่ค่าตัวมันเป็น 2 เท่าของ Pajero V6 เป๊ะ (2,590,000 กับ 1,295,000) ซึ่งถ้าต้องการ Navi ด้วยเพิ่มไปอีก 1แสน กับราคาสินสอดที่ซื้อ Pajero V6 ได้ถึง 2 คันพอดิบพอดีนี้ ดูจะเป็นอะไรที่น่าคิดหนักทีเดียว ถึงแม้มันจะเป็นรถที่ดูดีแทบทุกด้าน แต่การที่ราคามันแพงกว่ารถยุโรปอย่าง BMW X1 ด้วยแล้ว กับความที่เป็นรถญี่ปุ่นที่ราคาพุ่งเกินรถยุโรป ดูจะทำให้หลายคนนั้นตัดสินใจยากเหลือเกิน เนื่องจากต้องเข้าใจกันว่าบ้านเราภาษีรถยนต์แพงหูฉี่ ถ้าคนที่ไม่ได้รักชอบในแบรนด์จริงๆ ดูจะเป็นการยากที่จะออกรถยนต์ระดับนี้ ซึ่งถ้าหากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรถ SUV ที่นั่งสบายๆ สักคัน ขับ 4ล้อ การตอบสนองต่ออัตราเร่งทำได้พอตัว แถมด้วยความประหยัดน้ำมัน และมีภาพลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร หรือไม่มีใครอยากเหมือน Subaru Outback คันนี้ดูจะเป็นอะไรที่ควรจัดอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้เกี่ยงกับค่าตัวนัก
รถยนต์ Subaru Outback รุ่น 2.5i ราคา 2,590,000 บาท และรุ่น 2.5i Navi ราคา 2,690,000 บาท มากับ สีภายนอกที่มีให้เลือกถึง 8 สี ขาว (Satin White Pearl), เงิน (Ice Silver Metallic), ทอง (Sunlight Gold Opal), เขียว (Sage Green Metallic), น้ำเงิน (Galaxy Blue Selica), แดง (Camellia Red Pearl), เทา (Graphite Grey Metaillic), ดำ (Crystal Black Silica)
วัสดุหุ้มเบาะ มีทั้งหนังและผ้า ซึ่งมีให้เลือก 2 สี คือ ดำ และ เบจ (Ivory)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น