และแล้วก็เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2012 กันแล้ว ทางผู้เขียนต้องขอกล่าวสวัสดีปีใหม่กับ แฟนๆ Autospinn ทุกคน ขอให้มีความสุขสมปรารถนากันถ้วนหน้า สำหรับการรีวิวรถยนต์คันนี้ ซึ่งเป็นคันสุดท้ายของปี 2012 ที่จริงยังมีคิวขอรถยนต์ที่จะนำมาทดสอบอีกพอสมควร แต่เนื่องด้วยอาจจะติดช่วงสิ้นปี ซึ่งทางค่ายรถยนต์ทั้งหลายอาจจะไม่ค่อยสะดวกในการปล่อยรถให้ยืม จึงทำให้รถคันอื่นๆที่ขอไว้อาจจะต้องรอยกข้ามไปกันปีหน้า สำหรับรถยนต์คันนี้ ในตอนแรกมีความตั้งใจว่าจะขอ Proton Preve ตัวใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อ Motor Expo ที่ผ่านมา แต่ทว่ายังไม่มีรถให้ยืม เพราะจะมีตัวให้เทสมาในปีหน้า ทาง PR ของ Proton จึงถามว่า สนใจจะทดสอบตัว Exora Turbo ไหม เพราะเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวกัน และผมเห็นว่าปัจจุบันนี้ Exora เป็นรถยนต์ MPV ไซส์เล็กที่เริ่มมีคนสนใจและใช้กันมากขึ้น จึงตอบตกลงเพื่อรับเจ้า Exora Turbo นี้มาทำรีวิว เป็นคันสุดท้ายของปีนี้ และคงจะกลับมาพบกับการรีวิวรถยนต์คันอื่นๆ ต่อไปอีกในปีหน้า
รูปลักษณ์ภายนอก เจ้า Exora ตัวเทอร์โบนี้จะมีจุดที่เปลี่ยนไปจาก Exora พอสมควร ซึ่งเสริมหล่อ เพิ่มความเท่ ได้แก่ กันชนหน้า-หลัง ที่ดีไซน์สปอร์ตขึ้น ด้านหน้ามีช่องระบายอากาศใหม่ซึ่งดูดุดันขึ้น กันชนด้านหลังชายข้างล่าง จะตัดเป็นสีดำ อีกทั้งสเกิร์ตรอบคัน และสปอยเลอร์หลัง รวมถึงไฟท้ายด้านหลังเปลี่ยนจากสีแดงเป็นรมดำ ให้ความรู้สึกโหดๆ เหมาะสมกับเครื่องยนต์วางเทอร์โบ ล้ออัลลอยเพิ่มขนาดเป็นขอบ 16” ลาย 5 ก้านคู่ และอีกจุดต่างที่ตัวอักษรด้านหลังฝากระโปรงท้าย ทางด้านซ้าย จะเป็น CPE แทน CPS
รูปโฉมภายใน วัสดุนั้นเป็นหนัง บริเวณกรอบพลาสติกคอนโซลกลางเป็นลายเคฟล่า ดูให้อารมณ์สปอร์ต สำหรับออปชั่นมีมาพร้อมลูกเล่นแบบไม่น้อยหน้าค่ายอื่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียงที่มาพร้อม Bluetooth เชื่อมต่อโทรศัพท์ พวงมาลัยมาพร้อมสวิทช์ควบคุมเครื่องเสียง และก้านควบคุมความเร็ว ระบบปรับอากาศที่มีช่องลมให้พร้อมทั้งตอน 2 และ 3 เครื่องเล่น DVD พร้อมจอ LCD รองรับ SD Card และ USB และที่เป็น Hilight คือ กล้องมองภาพด้านหลัง ที่มาแสดงผลผ่านทางกระจกมองหลัง
เครื่องยนต์ ขนาดความจุ 1.6 ลิตร 4 สูบ 16 วาล์ว DOHC CPE พ่วงระบบอัดอากาศ เทอร์โบชาร์จ และอินเตอร์คูลเลอร์ รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E20 ได้ มีพละกำลังสูงสุด 138แรงม้า ที่ 5000รอบต่อนาที และแรงบิด 205Nm ช่วง 2000-4000 รอบต่อนาที เครื่องยนต์ตัวนี้เป็นพื้นฐานเดิมมาจาก Exora ตัวปกติ แต่ลดกำลังอัดของเครื่องยนต์ลงเพื่อรองรับแรงอัดของเทอร์โบลงอยู่ที่ 8.9:1 ซึ่งการจับใส่เทอร์โบลูกนี้ จะช่วยปั่นสร้างแรงม้าได้เพิ่มประมาณ 13ตัว ส่งผลให้พละกำลังเครื่องยนต์ อยู่ในระดับรถเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร NA ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่ทาง Proton บุกเบิกเครื่องยนต์ไซส์เล็ก โดยใช้ระบบอัดอากาศเข้าช่วย เพราะในตลาดบ้านเราที่นิยมเน้นเครื่องความจุขนาดใหญ่ไว้ก่อน ซึ่งการที่ใช้ระบบอัดอากาศช่วยในเครื่องยนต์ความจุน้อยนั้น จะมีผลดี เวลาขับขี่แบบปกติที่ไม่ได้ต้องการกำลังนัก ก็จะมีการบริโภคน้ำมันและปล่อยมลพิษในแบบเครื่องความจุน้อย แต่เมื่อต้องการเรียกใช้พละกำลังเหยียบเร่งไป ระบบอัดอากาศจะช่วยปั่นสร้างม้าเพิ่มมาให้ใช้อย่างเร็วทันใจ สำหรับ Top Speed ได้เคลมไว้ที่ 185กม./ชม. อัตราเร่ง 0-100กม./ชม. ทำได้ใน 11.3วินาที และอัตราสิ้นเปลืองเคลมที่ 12.8กม./ลิตร
ระบบส่งกำลังและการควบคุม เกียร์ที่ใช้เป็น CVT 6 Speed ที่พัฒนาสำหรับใช้ในตัวเครื่องเทอร์โบนี้ เพราะตัวปกติจะเป็น AT ไม่ใช่ CVT แต่ในโบรชัวร์กลับไม่ได้ลงรายละเอียดของเกียร์ไว้ นอกจากนั้นเจ้าเกียร์ลูกนี้มาพร้อมกับโหมด S แต่ไม่สามารถโยกเปลี่ยนเกียร์ได้ ด้านพวงมาลัยย้อนกลับไปใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิค ไม่ใช่พวงมาลัยไฟฟ้าแบบทั่วไปในปัจจุบัน
ระบบเบรกและระบบกันสะเทือน ระบบเบรก เป็นดิสก์เบรก 4ล้อ คู่หน้าเป็นแบบมีครีบระบายความร้อน ซึ่งถ้าเป็นในรุ่นที่ไม่ใช่เทอร์โบ ด้านหลังจะเป็นเพียงดรัมเบรก ในส่วนของระบบกันสะเทือน ด้านหน้าพิมพ์นิยมในรถยนต์เก๋งทั่วไป แม็กเฟอร์สัน สตรัท พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังก็เป็นพิมพ์นิยมเช่นกัน ยังใช้เป็นคานแข็ง ทอร์ชั่นบีม พร้อมเหล็กกันโคลง
ระบบความปลอดภัย ก็ยกมาเต็มไม่ว่าจะเป็นระบบเบรก ABS, EBD , ถุงลมนิรภัยคู่หน้า, เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ, กุญแจนิรภัย Immobilizer พร้อมสัญญาณกันขโมย, เซ็นทรัลล๊อค และเทคโนโลยี Proton Ride & Handling (R&H) ระบบควบคุมบังคับลิขสิทธิ์พิเศษ เฉพาะของโปรตอน ซึ่งจะช่วยในการยึดเกาะ และความมั่นคง ไม่ทำให้เกิดอาการ Under Steer เวลาเข้าโค้ง และโคลงเคลงในจังหวะหักหลบสิ่งกีดขวาง
รีวิวขับทดสอบ Proton Exora Turbo ไปอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กาญจนบุรี
สำหรับการทดสอบรถในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณบริษัท พระนครออโตเซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่าย รถยนต์ Proton ประเทศไทย ที่ได้เอื้อเฟื้อรถยนต์ MPV ไซส์เล็กตัวแรง อย่าง Proton Exora Turbo ให้เราได้ยืมมาทำการทดสอบกัน โดยคันที่ได้มานี้เป็น รถยนต์ Proton Exora Turbo สีแดง รุ่น 1.6T CVT (H-Line) กับการเดินทางทดสอบขับในครั้งนี้เป็นระยะทาง กว่า 500กม. โดยได้ใช้ช่วงการคำนวณอัตราสิ้นเปลืองเป็นระยะทางทั้งหมด 297.8กม. เติมน้ำมันเต็มถังกลับเข้าไป เพียงหัวจ่ายตัดได้ 27.51 ลิตร คิดอัตราสิ้นเปลืองได้ 10.83กม./ลิตร โดยน้ำมันที่ใช้เป็นน้ำมัน E20 และการขับขี่ในสภาพจราจรตามเส้นทางชนบทร่วมกับในตัวเมืองกาญ สำหรับสไตล์การขับขี่นี้ไม่ได้เน้นประหยัด เพราะอยากลองสมรรถนะของเครื่องยนต์เทอร์โบ ซึ่งได้มีจังหวะเหยียบเร่งแซง เอาพละกำลัง รวมถึงทดสอบอัตราเร่งอีกด้วย สำหรับอัตราสิ้นเปลืองที่ทำได้ในระดับนี้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับรถยนต์ 1.8 ในบางรุ่น เมื่อเทียบกับสเป็กที่เคลมอยู่ 12.8กม./ลิตร ถ้าใช้น้ำมันเบนซินเพียว และขับขี่แบบเน้นประหยัดโดยรักษาความเร็วและการเดินคันเร่ง น่าจะทำได้ตามที่เคลมไว้ไม่ยาก
เมื่อได้เข้ามานั่งในตัวรถ จะรู้สึกว่าเบาะนั่งตำแหน่งสูงมาก ถึงแม้จะปรับลงต่ำสุดแล้ว และตัวเบาะค่อนข้างแข็ง นั่งไม่กระชับตัวนักเนื่องจากตัวเบาะแบน ไม่ได้มีปีกยื่นออกมาโอบลำตัว เมื่อมองถึงตัววัสดุที่ใช้ภายในนั้น ยังดูงานไม่ค่อยดี โดยเฉพาะพวกเนื้อพลาสติก ปุ่มต่างๆ รวมถึงแผงประตู แต่หลังจากเมื่อ ได้บิดกุญแจสตาร์ทรถ เมื่อเข้าเกียร์ R ปุป จะพบลูกเล่นที่น่าสนใจ นั่นคือ กระจกมองหลังแบบลดแสงซะท้อนที่แฝงลูกเล่นจอแสดงผลจากกล้องมองหลังเอาไว้ทางด้านซ้าย ช่วยให้การถอยรถ สะดวกสบายยิ่งขึ้น เมื่อมองมาที่พวงมาลัยหนัง 3 ก้านดูเผินๆ ออกแนวสปอร์ตอยู่ แต่พอมามองดูใกล้ๆ บริเวณตรงกลางพวงมาลัยเป็นพลาสติก และสวิทช์ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา รวมถึงด้านไฟเลี้ยวทางด้านซ้าย และก้านปัดน้ำฝนด้านขวา รวมถึงก้าน Crusie Control ที่อยู่ด้านล่างขวา ดูงานแล้วออกจะก๊องแก๊งไปนิด มาตรวัดหน้าจอเรืองแสง สามารถเซ็ต Trip A, B และแสดงตัวเลขระยะทางที่ยังวิ่งได้อีกโดยคำนวณจากน้ำมันคงเหลือ มีอีกจุดที่ไม่ชอบเลย คือ เมื่อเวลาลดกระจกด้านคนขับ โดยปกติจะสามารถกดเพียงครั้งเดียวแล้วกระจกจะเลื่อนขึ้นให้จนสุด แต่ว่าคันนี้ไม่ จะต้องกดค้างจนเลื่อนปิด ตำแหน่งเบรกมือ และช่องวางของที่กั้นกลางเบาะผู้ขับ กับผู้โดยสารตอนหน้าดูจะต่ำไป สำหรับหยิบของ และดึงเบรกมือ ทำได้ไม่สะดวกนัก เมื่อลองข้ามมานั่งในเบาะแถว 2 ดูบ้าง พบว่าพื้นที่ Leg Room มีเยอะทีเดียว คนตัวสูงนั่งได้สบายๆ แต่ในแถว 3 นั้น นั่งลำบากมากๆ ถ้าไม่ใช่เด็กตัวเล็กๆ เพราะไม่มีพื้นที่ Leg Room เหลือให้เลย แต่ที่ชอบคือ ทั้งเบาะแถว 2 และ 3 มีช่องแอร์ให้ และ บริเวณตอน 2 มีจอเครื่องเล่น DVD ติดผนังให้สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้นั่งตอนหลังอีกด้วย และนอกจากนั้น เบาะทั้งสองแถว ยังสามารถพับราบ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระอีกด้วย ในด้านเสียงรบกวนห้องโดยสารนั้นก็มีพอสมควรจากภายนอกเสียงลม ปะทะ ที่ความเร็วประมาณ 100กม./ชม. ขึ้นไปมาค่อนข้างชัด ในขณะที่เสียงจากล้อนั้นไม่ค่อยมากนัก
ในส่วนของวิสัยทัศน์การขับขี่ ด้านมุมมองหน้ารถมองได้ใกล้เคียงรถยนต์ทั่วไปที่ด้านฝากระโปรงหน้าเทลาดนิดๆ แต่มุมองจะดูดีกว่าหน่อยเนื่องจากเบาะสูงกว่ารถยนต์ทั่วๆไป ด้านข้างกระจกมองข้างค่อนข้างยาวมองเก็บมุมมองได้กว้างดี ส่วนเสา A, B, C ไม่หนามาก ไม่ค่อยเป็นอุปสรรคในการกลับรถเท่าไร แต่เสา D หนามาก ตามประสารถทรงกล่อง แต่ในส่วนนี้ไม่ค่อยจะอยู่ในวิสัยทัศน์การขับรถที่จะต้องมองใช้งานสักเท่าไร มุมมองโดยรวมถือว่าทำได้ดี กับรถ MPV เพราะทรงรถไม่ได้ดูเรียว Slope มากนัก ทรงรถออกกล่องเหลี่ยมๆ องศาการมองจึงดูใกล้เคียงปกติไม่ได้ถูกบีบแคบลง เหมือนรถยนต์ที่มีองศาเทลาด
สำหรับเครื่องยนต์ ขนาดความจุเพียง 1.6 ลิตร หายใจแบบปกติ อาจดูไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เมื่อต้องการกำลังเครื่อง หรือขับได้เพลินตามที่ต้องการ จึงทำการจับยัดใส่หอยโข่ง เพื่อรีดกำลังม้าเพิ่มเติม ได้ 138แรงม้า กับแรงบิดเป็น 205Nm การขับขี่ในจังหวะเร่งออกตัว ยอมรับเลยว่ารอบมาดีมากๆ ดูดีกว่าเครื่องระดับ 1.8 หรือ 2.0 เหยียบปุปรอบตวัดมาได้อย่างรวดเร็วทันใจ รถออกตัวพุ่งดีทีเดียว และขับทั่วๆไป แรงบิดมาดีตั้งแต่รอบต่ำ ตามอย่างที่สเป็กเคลมไว้ว่า มาตั้งแต่ 2000-4000 รอบต่อนาที แต่จากความรู้สึกสัมผัสจากแรงกระชาก ของกำลังเครื่องยนต์ ดูพละกำลังจะยังไม่เท่าเครื่องยนต์ในระดับ 1.8 เพราะจะยังไม่สัมผัสถึงแรงฉุดดึงนัก สำหรับรอบเครื่องนั้นไม่ได้ดูจัดจ้านเท่าไร เหยียบแช่ได้ถึงรอบราวๆ 5000+ เล็กน้อย รอบจะไม่ค่อยไต่ขึ้นแล้ว ดูจากหน้าปัด Red Line อยู่ที่ 6000rpm มาลองทดสอบอัตราเร่งและวัดแรงม้าจาก OBD II Bluetooth ดู 0-100กม./ชม. ทำได้ใน 11.77 วินาที 1/4ไมล์ใน 18.69 วินาที สมรรถนะทำได้ดีในระดับรถยนต์ซีดานเครื่องยนต์ 1.8 แต่เจ้า Exora นี้แบกน้ำหนักตัวมากถึง เกือบตันครึ่ง เท่านี้ถือว่าทำได้ดีแล้ว ในส่วนแรงม้าที่วัดได้สูงสุดออกมาเพียง 91.2hp ที่ 3838rpm และแรงบิด 111.3 ปอนด์-ฟุต ที่ 3451rpm ด้านการทดสอบ Top Speed สามารถไปถึง 180กม./ชม. ได้สบายๆ แต่ต้องยกคันเร่งก่อนแล้ว เนื่องจากสภาพถนนไม่เอื้ออำนวย ซึ่งคาดว่าน่าจะไหลไปได้อีกหน่อย ซึ่งดูจากสมรรถนะจริงกับตามโบรชัวร์แล้วออกมาใกล้เคียงกัน
ความสัมพันธ์ความเร็วต่อรอบเครื่องยนต์ได้ทำการวัดที่ 3 ค่า ได้ดังนี้ 80กม./ชม.=1800rpm 100กม./ชม.=2200rpm 120กม./ชม.=2600rpm ดูแล้วอัตราทดเกียร์น่าจะเซ็ตมาสูงพอสมควร ซึ่งอาจเซ็ตมาให้เหมาะกับอัตราเร่งช่วงต้นเพื่อให้ตอบสนองได้ดี แต่การขับขี่ที่ใช้รอบเครื่องสูงตรงนี้อาจเป็นผลให้อัตราบริโภคกินน้ำมันอยู่ในระดับรถ 1.8 บางรุ่น สำหรับเกียร์ลูกนี้เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 Speed ที่มีความนุ่มนวล และที่สำคัญสามารถตอบสนองได้รวดเร็วทันใจ ถึงแม้จะไม่ได้โฆษณา หรือลงรายละเอียดกับเจ้าเกียร์ CVT ที่นำมาใช้กับตัวเครื่องยนต์เทอร์โบนี้ ก็ทำได้ดีไม่แพ้ค่ายดังที่โฆษณาในเรื่องของระบบเกียร์ CVT มากนัก การขับขี่รู้สึกว่าสามารถ่ายทอดกำลังได้ดี ไม่เหมือนขับรถเกียร์ CVT ที่ปกติมักจะดูอืดๆ แต่ความนุ่มนวลยังคงความดีเช่นเดิมตามสไตล์ และเมื่อโยกเข้ามาหาลำตัว จะเปลี่ยนเป็นโหมด S ซึ่งก็จะให้การขับขี่ที่ลากรอบยาวขึ้นได้ แต่การเซ็ตเกียร์ก็ไม่ได้ทำให้รอบจัดขึ้นนัก โดยรวมแล้ว ขับ D ปกติน่าจะง่ายสะดวกที่สุด
ด้าน Handling ของพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิค ซึ่งมีน้ำหนักเบามือดีมาก ให้การควบคุมที่ดูจะแปลกไปจากรถยนต์อื่นๆ ที่ใช้พวงมาลัยแบบไฟฟ้า อยู่พอสมควร แต่น้ำหนักนั้นดูจะเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่าพวกไฟฟ้า ในช่วงออกตัวหรือเร่งแซง รวมถึงช่วงความเร็วสูง น้ำหนักนั้นดูจะเบาไป ในจังหวะออกตัววัดอัตราเร่งล้อฟรี พวงมาลัยส่ายต้องคอยประคองให้ดี แต่ในจังหวะเลี้ยงคันเร่งในโค้ง การประคองพวงมาลัยทำได้อยู่ในเกณฑ์ดีควบคุมง่าย ทำให้การเข้าโค้งดูเนี้ยบขึ้น และไม่ต้องใช้พละกำลังในการควบคุมในโค้งมากนัก ระยะฟรีพวงมาลัยมีพอสมควร ในช่วงฟรียังมีความหนืดพอเหมาะอยู่ แต่พอเข้าสู่ Steering แล้ว ยังคงรู้สึกเบาไปอยู่ อาจมีส่วนมาจากช่วงล่างที่ดูยังไม่ค่อยแน่นนักจึงส่งผลมาที่ระบบ Handling ด้วย
เบรก ถึงแม้จะเป็นดิสก์ 4 ล้อ คู่หน้ามีครีบระบายความร้อน แต่ในการเบรกนั้นยังจะต้องมีการกะระยะเผื่อเอาไว้พอสมควร เพราะจังหวะเบรกเวลาติดไฟแดง มักจะเอาไม่ค่อยอยู่เท้านัก ถ้าค่อยๆเบรกแบบเน้นความนุ่มนวล ต้องกดลงน้ำหนักลึก พอสมควรถึงจะเบรกหยุดอยู่
ช่วงล่างเซ็ตมาค่อนข้างออกแนวนิ่ม นั่งสบายตามประสารถครอบครัว แต่เมื่อขับสักความเร็ว 100กม./ชม. เริ่มรู้สึกโคลงเคลง ไม่ค่อยนิ่ง ดูรถจะล่อนๆ เหมือนช่วงล่างไม่แน่น แต่เมื่ออยู่ในโค้งจากที่ได้กล่าวไปว่าการควบคุมดูจะไม่ยากเย็นนัก และไม่ได้ให้ความรู้สึกโหวงเหวง อาจมีส่วนจากระบบ R&H ลิขสิทธิ์เฉพาะของโปรตอน ช่วยในการควบคุมและยึดเกาะ ให้ไม่ค่อยเห็นอาการ Under Steer ออกนัก
สรุป Proton Exora Turbo เป็นรถครอบครัวอเนกประสงค์ ที่มาพร้อมกับรูปลักษณ์ดูสปอร์ตเท่ ที่สุดในรถ MPV ระดับเดียวกัน แล้วมากับออปชั่นครบๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่น DVD พร้อมจอ LCD ที่ติดบนเพดานแถว 2 เครื่องเสียงที่รองรับการเชื่อมต่อ Bluetooth กับโทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศทั้ง 3 แถว รวมถึงสวิทช์ Multifunction และก้าน Cruise Control กล้องมองภาพด้านหลังพร้อมจอแสดงผลที่กระจกมองหลัง และเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร พ่วงด้วยเทอร์โบ ปั่นเสริมกำลัง ทำให้มีอัตราเร่งจี๊ดจ๊าด ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาแล้ว ถือว่าค่อนข้างคุ้มค่าสมเหตุผล แต่ในส่วนของช่วงล่าง และเบรก ยังค่อนข้างน่าผิดหวัง ในด้านของสมรรถนะ แต่ความนุ่มนวลในการโดยสารก็ยังพอมีนั่งได้สบายอยู่บ้าง สรุปแล้วเป็นรถ MPV อีกคันที่น่าสนใจกับราคาไม่แพง ออปชั่นค่อนข้างมีให้เยอะ กำลังเครื่องดีในระดับรถยนต์ซีดาน 1.8 ลิตร ซึ่งไม่ว่าจะใช้ในตัวเมืองก็มีความกระฉับกระเฉงดี แต่เดินทางต่างจังหวัด ก็พอได้ ถ้าไม่ได้ขับเร็วมากจนช่วงล่างถึงกับล่อน
Proton Exora มีสีให้เลือกทั้งหมด 5 สี ได้แก่ ขาว Solid White, ดำ Tranquility Black, บรอนซ์เงิน Genetic Silver, แดง Plum Red และ น้ำตาล Elegant Brown โดยใน 2 สีหลังนี้ จะมีใน M-Line ขึ้นไป
สำหรับรุ่นย่อยและราคามีดังนี้
B-Line CPS MT ราคา 664,000 บาท และ AT ราคา 704,000บาท
M-Line CPS MT ราคา 749,000 บาท และ AT ราคา 789,000 บาท
H-Line CPE AT ราคา 879,000 บาท
Prime CPE AT ราคา 919,000 บาท
สำหรับรุ่นย่อยและราคามีดังนี้
B-Line CPS MT ราคา 664,000 บาท และ AT ราคา 704,000บาท
M-Line CPS MT ราคา 749,000 บาท และ AT ราคา 789,000 บาท
H-Line CPE AT ราคา 879,000 บาท
Prime CPE AT ราคา 919,000 บาท
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น