วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

BMW เปิดตัว Series 7 ใหม่ ในงาน Paris Motor Show 2008


เปิดตัวอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วสำหรับ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 สุดยอดสายพันธุ์แห่งความหรูของค่ายใบพัดสีฟ้าขาว ในงาน “ปารีส มอเตอร์โชว์ 2008” (เดือนตุลาคม) แน่นอนว่าการโมเดลเชนจ์ครั้งนี้บีเอ็มดับเบิลยูขนอุปกรณ์ไฮเทคมากมายเพื่อขย่มคู่แข่งสัญชาติเดียวกันอย่าง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ชนิดไม่มีขาดตกบกพร่องเลย
      
       แต่ก่อนที่บีเอ็มดับเบิลยูจะเผยโฉมซีรีส์ 7 เพียงแค่อาทิตย์เดียวทางบีเอ็มดับเบิลยู ไทยแลนด์ เชิญสื่อมวลชนไทย 3 ฉบับร่วมสัมผัสยนตรกรรมสุดหรูอย่างใกล้ชิด ณ เมือง Dresden ประเทศ เยอรมนี
       เด่นภายนอก-ทึ่งภายใน
      
       ซีรีส์ 7 ที่พบเห็นครั้งแรกจากภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าซีรีส์ 7ใหม่รุ่นนี้มีส่วนคล้ายกับรุ่นเดิม แต่หากมองซ้ำแล้วซ้ำอีกจะเห็นถึงความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บวกกับรายละเอียดที่บีเอ็มดับเบิลยูบอกไว้ในเอกสารยืนยันว่าทั้งภายนอกและภายในได้รับการออกแบบใหม่หมด
      
       สไตล์การออกแบบและเส้นสายที่นำมาใช้กับซีรีส์ 7 ใหม่เป็นการประยุกต์มาจากต้นแบบรุ่น CS Concept ที่เปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์จีนเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว จึงทำให้รูปลักษณ์ด้านหน้าดูสวยสะดุดตา โดยเฉพาะไฟหน้าทรงเหลี่ยมเฉียงออกแบบให้รับกับกระจังหน้าทรงไตคู่ขนาดใหญ่อันเป็นเอกลัษณ์ของบีเอ็มดับเบิลยูได้เป็นอย่างดี ขณะที่ไฟหน้าทั้ง 2 ฝั่งมีการฝังไฟดวงกลมคู่เอาไว้ภายใน และมีไฟเลี้ยวดีไซน์ใหม่ซึ่งเป็นการจับเอาหลอดแบบ LED 8 ดวงมาวางเรียงเป็น 2 แถว ๆ ละ 4 ดวง ในแนวตั้ง
       สำหรับด้านท้ายโดดเด่นกับไฟท้ายทรงตัว L วางในแนวนอนมีขนาดใหญ่ และออกแบบให้รับกับภาพรวมของรูปลักษณ์ด้านท้ายได้อย่างกลมกลืน ซึ่งข้างในใช้ไฟแบบ LED วางเรียงเป็น 3 แถวเพื่อประสิทธิภาพในการส่องสว่าง และเสริมความหรูด้วยแถบโครเมียมคาดกลางระหว่างไฟท้ายทั้ง 2 ฝั่ง ขณะที่กันชนท้ายแม้ว่าจะดูเรียบ ๆ แต่ก็เน้นความสปอร์ตในระดับหนึ่งด้วยการเจาะช่องเตรียมไว้สำหรับปลายท่อไอเสียทั้งฝั่งซ้ายและขวา
      
       อย่างไรก็ตามแม้ว่าซีรีส์ 7 ใหม่นี้ จะไม่ได้พลิกโฉมที่โดดเด่นเหมือนกับตอนที่เปลี่ยนจากรุ่นที่ 3 มารุ่นที่ 4 แต่ซีรีส์ 7 (รุ่นที่5) ใหม่ก็ยังคงความสวยที่ผสมผสานระหว่างความสปอร์ตของรูปลักษณ์เข้ากับความหรูหราตามแบบฉบับของผู้บริหาร (กระเป๋าหนัก) ได้เป็นอย่างดี
 
       ส่วนภายในห้องโดยสารบีเอ็มดับเบิลยูได้มีการดีไซน์ใหม่หมดเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการยกระดับความหรูหรา -ประโยชน์ใช้สอย และจุดที่ถือเป็นเอกลักษณ์มาตลอดสำหรับรถยนต์ทุกรุ่นที่แปะโลโก้ใบพัดสีฟ้าขาวคือการออกแบบแผงหน้าปัดซึ่งมีทั้งหมด 4 ดวง แบ่งเป็น 2 ดวงใหญ่ สำหรับมาตรวัดรอบเครื่องยนต์และความเร็ว และประกบซ้าย-ขวา ด้วยมาตรวัดระดับน้ำมันเชื้อเพลิงและความร้อนซึ่งเป็นวงกลมดวงเล็ก ขณะเดียวกันชุดแผงหน้าปัดมีการเลือกใช้วัสดุแบบใหม่ที่เน้นความอ่อนนุ่มและความสบายขณะใช้งาน รายละเอียดอื่น ๆ ที่อยู่ในชุดมาตรวัด และแผงคอนโซลกลางเป็นของใหม่ทั้งหมด
      
       ระบบ iDrive ที่นำมาใช้ครั้งแรกกับซีรีส์ 7 รุ่นก่อนหน้านี้ยังเป็นหัวใจหลักของการควบคุมระบบการทำงานต่าง ๆภายในตัวรถแต่ขยายขนาดหน้าจอสำหรับการแสดงผลให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 10.2 นิ้ว อีกทั้งยังมีการติดตั้งฮาร์ดดิสก์ขนาด 8 Gb สำหรับบรรจุข้อมูลหรือเพลงได้มากกว่า 100 อัลบั้ม ขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศเป็นแบบแยกส่วนถึง 4 จุด ตามเบาะนั่งในส่วนต่างๆ ของตัวรถ โดยที่เบาะหลังติดตั้งระบบระบายอากาศพร้อมระบบนวดไว้ในตัวเบาะเพื่อคลายความเมื่อยล้าให้กับผู้บริหารในระหว่างเดินทาง (มีอยู่เฉพาะรุ่นฐานล้อยาว) และที่สำคัญสุดสามารถเชื่อต่ออินเทอร์เน็ตจากภายในรถได้ ซึ่งระบบนี้ยังไม่มีรถรุ่นใดมี บีเอ็มดับเบิลยูจึงกลายเป็นเจ้าแรกของโลกที่สามารถเชื่อต่ออินเทอร์เน็ตภายในรถได้
 
       ในเรื่องของความกว้างขวางและความหรูหราของซีรีส์ 7 ใหม่ ยังคงตอบสนองได้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นความกว้างขวางภายในรถ เบาะนั่งที่ได้รับการออกแบบให้โอบกระชับและนั่งสบายแม้ว่าจะต้องขับในระยะทางไกล ๆ แต่อย่างใดในเรื่องของเบาะนั้นสมาชิกที่ร่วมเดินทางไปกับ “ผู้จัดการมอเตอริ่ง” ติงว่าแข็งไปนิดไม่เหมาะกับเศรษฐีและผู้บริหารในแถบบ้านเราที่เน้นเบาะที่นุ่ม นิ่ม สบาย ๆ มากกว่า อันนี้ก็แล้วแต่ความชอบส่วนตัวล่ะครับ
 
       เต็มเปี่ยมด้วยไฮเทค
      
       บีเอ็มดับเบิลยูภาคภูมิใจกับซีรีส์ 7 ใหม่ เพราะทุกโมเดลอัดแน่นไปด้วยระบบการทำงานไฮเทคซึ่งยังไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรถรุ่นใดของบีเอ็มดับเบิลยู คือ ระบบ Night Vision ซึ่งสามารถแจ้งเตือนให้ทราบหากมีคนเดินถนนอยู่บนเส้นทางด้านหน้า โดยระบบจะสามารถประมวลผลและคาดเดาพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของคนได้ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนการเปลี่ยนเลนเพิ่มความปลอดภัยด้วยการติดตั้ง Side View Camera System ขจัดมุมบอดที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากกระจกข้างหรือส่องหลัง
      
       ระบบ Park Distance Control ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเมื่อต้องใช้ความเร็วต่ำบนสภาพเส้นทางที่อาจจะมีสิ่งกีดขวางอยู่บนถนน ซึ่งเมื่อมีการกดปุ่มจากในห้องโดยสาร กล้องที่ติดตั้งอยู่บนกันชนหน้าทั้ง 2 ตัว จะแสดงภาพที่อยู่ทางด้านหน้ามาทางมอนิเตอร์ของระบบ iDrive ทำให้ผู้ขับสามารถรับทราบถึงมุมอับที่อยู่ทางด้านหน้าของตัวรถโดยเฉพาะเมื่อต้องขับบนทางแคบ ๆ หรือเวลาเลี้ยวออกจากซอยที่มีมุมอับ
  
       นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 รุ่นนี้ ยังติดตั้งระบบ Lane Change Warning ที่จะทำงานร่วมกับระบบ Lane Departure Warning เพื่อความปลอดภัยในขณะขับ ซึ่งระบบนี้เคยติดตั้งอยู่ในซีรีส์ 5 และ 6 มาก่อน โดยการทำงานจะมีการเตือนให้ผู้ขับรับทราบทั้งแรงสั่นสะเทือนบนพวงมาลัยเบา ๆ หากว่ารถที่ขับเริ่มเบี่ยงออกจากช่องทางของตัวเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากหลับในหรือเผอเรอก็เป็นได้
      
       หากมีการเปลี่ยนเลนเรดาร์ทั้ง 2 ตัวที่ติดตั้งอยู่ที่มุมกันชนท้ายก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่แล่นตามมาทางด้านหลังในรัศมี 60 เมตร ซึ่งอาจจะอยู่ในมุมอับที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากกระจกมองข้างหรือกระจกส่องหลัง
  
       เหนืออื่นในรุ่นที่มีการติดตั้งระบบ Head-up Display หรือจอแสดงผลบนกระจกบังลมหน้าก็จะมีการทำงานร่วมกับระบบ Lane Departure Warning ในการตรวจสอบและแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่รับทราบในกรณีที่เส้นทางเหล่านี้มีการจำกัดความเร็ว ซึ่งระบบจะอาศัยกล้องที่ติดตั้งอยู่บนกันชนในการตรวจสอบป้ายสัญญาณจำกัดความเร็วที่อยู่บนถนน ถ้าพบก็จะมีการแสดงผลผ่านทางหน้าจอ Head-up Display ซึ่งถือเป็นรถยนต์ในสายการผลิตรุ่นแรกของโลกที่มีการแสดงและแจ้งเตือนการจำกัดความเร็วโดยอาศัยข้อมูลจากการอ่านป้ายสัญญาณที่อยู่บนถนน
      
       นอกจากนี้ ตัวรถยังตอบรับกระแสความประหยัดน้ำมันด้วยแนวคิด Efficient Dynamics ลดน้ำหนักตัวรถด้วยการใช้อะลูมิเนียมในการผลิตหลังคา บานประตู ฝากระโปรงหน้า-หลัง และชิ้นส่วนตัวถังด้านข้าง ขณะที่เทคโนโลยีการนำพลังงานที่สูญเปล่าจากการเบรกหรือถอนคันเร่งมาใช้ในการปั่นกระแสไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเรียกอัตราเร่งที่เรียกว่า Brake Energy Regeneration ก็ถูกนำมาใช้กับซีรี่ส์ 7 ใหม่เช่นกัน
  
       ครบเครื่องทั้งดีเซล-เบนซิน
      
       ซีรีส์ 7 ในช่วงแรกมีตัวถังให้เลือกใช้ 2 แบบ เช่นเดียวกับรุ่นก่อนคือ ตัวถังฐานล้อมาตรฐานและตัวถังฐานล้อยาว ตัวถังแบบแรกมีความยาว 5,072 มิลลิเมตรและระยะฐานล้อ 3,070 มิลลิเมตร ส่วนรุ่นฐานล้อยาวที่มีคำว่า L ต่อท้ายรหัสรุ่นนี้มีความยาว 5,212 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 3,210 มิลลิเมตร ส่วนความกว้างและความสูงเท่ากันที่ 1,902 มิลลิเมตร และ 1,479 มิลลิเมตร
      
       ขณะที่เครื่องยนต์มาครบทั้งเบนซินและเทอร์โบดีเซล เริ่มจาก 740iและLi ซึ่งเป็นแบบ 6 สูบเรียงทวินแคม 24 วาล์ว 3000 ซีซี พร้อมเทอร์โบคู่ ซึ่งเปิดตัวกับซีรีส์ 3 คูเป้เป็นครั้งแรก แต่ในบล็อกที่วางกับซีรีส์ 7 ใหม่รีดกำลังขึ้นมาเป็น 326 แรงม้าที่ 5,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 45.8 กก.-ม. ที่ 1,500-4,500 รอบ/นาที ตามด้วยรุ่น 750 iและLiแบบวี8 ทวินแคม 32 วาล์ว 4,800 ซีซี เทอร์โบคู่ซึ่งยกมาจาก X6 มีกำลังสูงสุด 407 แรงม้าที่ 5,500 -6,400 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 61.1 กก.-ม.ที่ 1,750-4,500 รอบ/นาที
  
       ส่วนเทอร์โบดีเซลมีแบบเดียว 730 d ไม่มีรุ่นฐานล้อยาวขาย มากับเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง 3,000 ซีซี เทอร์โบ 245 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 55.0 กก.-ม. ที่ 1,750-3,000 รอบ/นาที ทุกรุ่นจับคู่กับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ ส่วนอัตราเร่ง0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงอยู่ระหว่าง 7.2-5.2 วินาที และความเร็วปลาย 245-250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
      
       ทั้งสนุก-สบายกับสายพันธุ์ใหม่
      
       หลังจากซึบซับข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าซีรี่ส์ 7 รุ่นใหม่กันพอหอมปากหอมคอกันแล้วก็ถึงคิวที่จะได้สัมผัสกับตัวรถกันจริง ๆ บ้างสำหรับรถที่ทางบีเอ็มดับเบิลยู เยอรมนี เจ้าภาพจัดให้นักข่าวต่างชาติร่วมทดสอบมีด้วยการ 2 รุ่นคือ 750 Li กับรุ่น 730 d และเมืองไทยทั้ง 3 ฉบับบวกกับเจ้าหน้าที่จากบีเอ็มไทยแลนด์ที่ประจำอยู่ประเทศเยอรมนี รวม 4 คน ได้รับกุญแจรถคันแรกคือ750Li 2 คันนั่งคันละ 2 คน ส่วนช่วงบ่ายเป็นคิวของ 730 d
  
       จุดหมายปลายทางช่วงแรกเริ่มต้นจากโรงแรมที่เราพักที่มีชื่อว่า Taschenbergpalais hotel จนถึงปลายทางที่เขานัดกินข้าวกลางวันคือSchlss Wolfsbrunn รวมระยะทางทั้งหมด 190.8 กิโลเมตรบวกกับช่วงบ่ายอีก 131.0 กิโลเมตร
      
       สำหรับเส้นทางที่ทางเจ้าภาพจัดให้ลองขับรถระดับหรูอย่างซีรี่ส์ 7 ถือว่ามีครบทุกรสไม่ว่าจะเป็นในเมืองที่ต้องใช้ความเร็วต่ำเนื่องจากเส้นทางที่ขับจะต้องผ่านหมู่บ้านหลายแห่งและกฎหมายของที่นี่เมื่อขับเข้าเมืองจะต้องใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง แถมมีป้ายตอกย้ำอยู่ตลอดทางที่ขับผ่าน
      
       ขณะเดียวกันก็มีเส้นทางคดโค้ง ขึ้นเขา ลงเขา ถนนที่แคบ และบนมอเตอร์เวย์ที่สามารถใช้ความเร็วแบบไม่จำกัด ถ้าใจถึงก็เหยียบกันจนมิดเท้าเลย แต่ความเร็วสูงสุดไปได้ถึง 250 กม./ชม.เท่านั้นเนื่องจากบีเอ็มดับเบิลยูล็อกความเร็วไว้เท่านี้ ชนิดที่ว่ารถไม่มีอาการอะไรให้รู้สึกขาดความมั่นใจเลย แต่กลับสนุกต่อการขับขี่ พวงมาลัยแม้จะเบาแต่ควบคุมง่าย แม่นยำกว่ารุ่นเดิม โดยเฉพาะเสียงลมไม่เข้ามารบกวนให้รำคาญใจ
       
       อัตราเร่ง การออกตัว ปรู๊ดปร๊าด เรียกก็มาเลยไม่มีรีรอ แต่หากเปรียบเทียบระหว่าง 750 Li กับ 730 d ซึ่งได้ขับในช่วงบ่าย ก็ต้องขอบอกว่าการขับขี่ใกล้เคียงกัน แต่ตัวแรกจะได้เปรียบกว่าในการวิ่งทางไกล หรือเร่งแซงเนื่องจากเครื่องแรงกว่า กดเมื่อไรมาแบบไม่ยั้ง เล่นเอาตกใจหลายครั้งเมื่อหันมามองเข็มเลขไมล์ว่า โอโฮ้เหยียบไปได้ยังไง 200 กว่าโดยไม่รู้สึกตัวเลย
      
       แต่ในรุ่นดีเซลก็ไม่ได้น้อยหน้าไม่ว่าจะเป็นในเมือง ออกตัวสูสี อัตราเร่งก็มาทันใจ กดนิดเดียวมาอย่างนิ่ม ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรุ่นใหม่ติดเทอร์โบเสริมเข้ามาด้วยทำให้การขับขี่สนุกสนาน เพลิดเพลิน โดยเฉพาะทางคดเคี้ยว ขึ้นเขา มีโค้งค่อนข้างแยะ การขับขี่คล่องตัวทั้งสองรุ่น การยึดเกาะแม่นยำไม่มีอาการหลุดให้เห็นไม่ว่าจะใช้ความเร็วต่ำหรือสูงก็มั่นใจ
   สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบีเอ็มดับเบิลยูติตตั้งระบบ Integral Active Steering หรือระบบเลี้ยว 4 ล้อ ซึ่งจะมีการปรับมุมของล้อหลังให้สัมผัสกับล้อหน้าในมุมหักเลี้ยวจากแนวระนาบไม่เกิน 3 องศา โดยเมื่ออยู่ในช่วงความเร็วต่ำ มุมล้อหลังจะถูกหักให้ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการเลี้ยวของล้อหน้า ทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่เมื่อใช้ความเร็วสูงมุมล้อหลังจะหักไปในทิศทางเดียวกับมุมของล้อหน้าช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
      
       ส่วนช่วงล่างไม่สามารถบอกได้เต็มปากนักเนื่องจากทดลองทั้งนั่งและทั้งขับไม่รู้สึกอะไรเลย มันนิ่งมาก ๆ ไม่มีอาการยวบยาบ หรือแข็งกระด้าง ก็เลยไม่แน่ใจว่าทางบีเอ็มดับเบิลยูเซตช่วงล่างได้เนียนจริง หรือเป็นเพราะถนนในประเทศเยอรมนีดีเกินไป เพราะเส้นทางที่เราวิ่งมาถนนของเขาเรียบมาก ๆ ไม่มีหลุมบ่อ หรือขรุขระให้ได้สัมผัสแม้แต่นิดเดียว แต่ถ้ามาขับบ้านเราจะนุ่ม-นิ่งหรือไม่ก็ต้องลองกันอีกที
 
 
       การขับขี่บีเอ็มดับเบิลยูก็มีลูกเล่นให้ผู้ขับสนุกเพิ่มขึ้นด้วยระบบ Drive Dynamic Control ซึ่งนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับซีรีส์ 7 โดยแนวคิดนี้จะประกอบไปด้วยระบบช่วงล่างปรับระดับความหนืดของโช้กอัพโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า Variable Damping Control ซึ่งสามารถเลือกปรับได้ 4 แบบ คือ Comfort, Normal ,Sport และ Sport + ซึ่งเวลาขับก็สามารถเลือกกดโหมดที่เราอยากจะลองทดสอบดูได้อย่างง่ายดาย
      
       มาถึงห้องโดยสารภายในก็ต้องยอมรับว่ากว้างขวาง นั่งสบาย โดยเฉพาะเบาะหลัง แถมมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารทั้งด้านหน้า-ด้านหลัง แต่ก็ต้องขอสารภาพว่าไม่ได้ทดลองครบทุกหมวด เพราะการขับขี่ที่นี้เป็นพวงมาลัยซ้าย จิตใจก็มัวแต่พะวงกับการขับมากกว่าที่จะมาสนใจลูกเล่นที่บีเอ็มดับเบิลยูใส่มาให้เพียบ แต่อุปกรณ์ที่ได้ใช้ชัวร์คือ ปุ่ม iDrive เพราะก่อนที่จะขับรถออกจากจุดสตาร์ดต้องมานั่งเซตแผนที่ให้เรียบร้อยกันหลง (แต่ก็หลงจนได้) ซึ่งปุ่มใช้งานง่ายกว่าเดิมแยะ ส่วนอุปกรณ์อื่นที่ได้ลองก็มีระบบนวดที่ตัวเบาะ ,ปรับอุณหภูมิให้เบาะร้อนเพราะอากาศข้างนอกค่อนข้างเย็น 
 
ภายในของรุ่น 730 d
  
       และอีกระบบหนึ่งที่ลองเล่นดูคือ ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถเปลี่ยนเลน ด้วยการขับรถออกนอกเลน ปรากฏว่าตรงพวงมาลัยจะสั่นทันที ซึ่งกรณีจะช่วยได้สำหรับพวกขับแล้วหลับใน
      
       ซีรีส์ 7 ใหม่จะเริ่มจำหน่ายทั่วโลกปลายปีนี้ ส่วนเมืองไทยจะนำเข้ามาจำหน่ายต้นปีหน้าในรุ่น 750Li และ 740Li ขณะที่รุ่นประกอบในประเทศไทยจะเริ่มปลายปี 2009 สำหรับราคาแพงกว่าตัวเก่าอย่างแน่นอน เช่น740Liรุ่นปัจจุบันราคา 8.9 ล้านบาท(รุ่นประกอบในประเทศ) ถ้ารุ่นใหม่ก็น่าจะเพิ่มอีกหนึ่งล้านบาทก็ยังไม่ถึง 10 ล้านบาท
 
 
       ดังนั้น ตัวเลขของซีรี่ส์ 7 ที่มีราคาไม่ถึง 10 ล้านบาท คงไม่แพงเกินไป (กับมหาเศรษฐี) เมื่อแลกกับยนตรกรรมระดับหรูที่เพียบพร้อมไปซะทุกอย่าง….ไม่ว่าคุณจะสวมบทบาทเป็นคนขับหรือจะสวมบทบาทเป็นผู้บริหารนั่งเตะจุ้ยอยู่เบาะหลังก็ถือว่าคุ้มจริง…..จริง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น